นนทบุรี 6 พ.ค.-สถาบันอัญมณีฯ เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไตรมาสแรกปี 62 มีมูลค่า 3,166.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.18 เจอหลายสาเหตุแต่หากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยุติ ส่งออกพุ่งแน่
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 3 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 3,166.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.18 หากไม่นับรวมทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 2,083.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง ร้อยละ 6.02 โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกปรับตัวลดลง มาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเริ่มขยายตัวลดลง และยังมีปัญหาค่าเงินบาทที่ยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า ทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำเร็จรูป เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลง ร้อยละ 13.08 , 8.08 และ 13.02 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เช่น พลอยเนื้อแข็ง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.72 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.44 ส่วนเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 15.02 ขณะที่ทองคำ ส่งออกได้สูงถึงมูลค่า 1,208.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.82 ขณะที่ตลาดส่งออก ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ลดลงร้อยละ 10.98 สหภาพยุโรป (อียู) ตลาดอันดับ 2 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.34 สหรัฐฯ ตลาดอันดับ 3 ลดลง ร้อยละ 4.25 ส่วนตลาดลำดับถัดมา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ลด ร้อยละ 9.33 อินเดีย เพิ่ม ร้อยละ 3.29 จีน เพิ่มร้อยละ 46.54 อาเซียน เพิ่ม ร้อยละ 18.67 ญี่ปุ่น ลดร้อยละ 8.35 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลดร้อยละ 27.61 รัสเซียและประเทศเครือรัฐเอกราช ลด ร้อยละ 76.12 ประเทศอื่นๆ ลดร้อยละ 14.61
ทั้งนี้ แม้หลายตลาดจะส่งออกได้ลดลง แต่ตลาดอียู อินเดีย จีน และอาเซียน ก็ยังส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยอียูมีการส่งออกเพชรไปเบลเยี่ยมได้เพิ่มขึ้น อินเดีย ส่งออกโลหะเงินเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 335 ส่วนจีน ถือว่าเติบโตได้ดี มีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก.พ.ที่ส่งออกเพิ่ม ร้อยละ 249.64 โดยในเดือนมี.ค.เติบโตจากการส่งออกเครื่องประดับเงินที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.64และอาเซียน มีการส่งออกไปยังสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องประดับเทียมและเครื่องประดับทอง ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.90 และร้อยละ 1.37 ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ มีแนวโน้มทรงตัวและน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นในช่วงต่อไป หลังจากที่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น หากยุติได้ ก็จะส่งผลดีต่อการค้า และผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวในการผลิตสินค้าเจาะเป็นรายตลาด เป็นรายกลุ่ม และมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการผลิต ทำให้สินค้าตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อได้ รวมทั้งยังเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ทำให้สินค้าเจาะกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ยังต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากปัจจัยความไม่แน่นอนของการยุติข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ กับจีน ความไม่แน่นอนของ Brexit และการเมืองในสหภาพยุโรป อีกทั้งล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งได้เพิ่มความวิตกกังวลว่าจะก่อให้เกิดสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมากขึ้น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้จาก ร้อยละ 3.5 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย