กรุงเทพฯ 4 พ.ค.-เอกชน-อีไอซีประสานเสียงคาดยอดขายบ้านปีนี้หดตัวร้อยละ 10 แม้ ครม.คลอดหลักเกณฑ์พยุงเศรษฐกิจกระตุ้นซื้อบ้านหลังแรก
จากที่ คณะรัฐมนตรี ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยค่าลดหย่อนให้เป็นไปตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้มีเงื่อนไขเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนซื้อบ้านหลังแรกตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และต้องถือครองกรรมสิทธิ์ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียน ทั้งนี้ภาครัฐประเมินว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,350 ล้านบาท
นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท นั้นจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของผู้ซื้อให้เร่งซื้อบ้านในปีนี้ ซึ่งจะเป็นบ้านที่สร้างเสร็จรอการขาย โดยผู้ประกอบการคงจะออกโปรโมชันแข่งขัน เพื่อระบายบ้านเหลือขาย แต่จากที่เศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวตามคาด เช่น การส่งออกที่ต้องปรับลดคาดการณ์ลงต่อเนื่อง ประกอบกับ มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่ อาศัย หรือแอลทีวีคุมเข้มสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา ก็เป็นตัวการกดดันยอดขายซึ่งลดลงหนักในเดือนเมษายน และคาดว่าจะทำให้ภาพรวมยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้หดตัวลงจากปีที่แล้ว
“คนที่จะซื้อบ้านหลังแรกจะเร่งซื้อเพราะได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี แต่จากแอลทีวีที่เข้มงวด ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถกู้ได้เต็มที่ จึงส่งผลให้การซื้อบ้านโดยรวดไม่เติบโตจะเห็นชัดว่าเดือน เม.ย.ชะลอลงมาก ภาพรวมแล้วปีนี้อสังหาฯคงหดตัวจากปีที่แล้ว โดยขณะนี้ผู้ประกอบการก็พยายามหาโปรโมชันในการกระตุ้นการซื้อเพิ่มขึ้น” นางเกษรา กล่าว
ด้านอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ผลบวกของมาตรการดังกล่าวต่อตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมอาจมีไม่มาก โดยยังคงคาดการณ์มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของทั้งประเทศในปี 2562 หดตัวประมาณ ร้อยละ10 แม้ว่ามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าซื้อบ้านของรัฐบาลจะช่วยลดต้นทุนของผู้เสียภาษีที่ซื้อบ้านหลังแรก แต่ผลบวกที่มีต่อการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมอาจมีไม่มาก
เนื่องจากได้รับผลประโยชน์ของมาตรการอาจมีไม่มาก เนื่องจากต้องเป็นผู้ที่มีเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาทและต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมาก่อน ทำให้กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ถูกจำกัด ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็ส่งเสริมการซื้อบ้านหลังแรกมาเป็นระยะตลอดช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เสียภาษีที่เข้าข่ายจะได้ประโยชน์จากมาตรการอาจมีไม่มากเท่ากับในครั้งแรกที่ออกมาตรการ
นอกจากนี้ หากเทียบกับมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองที่อยู่อาศัย ผลบวกต่อกลุ่มเป้าหมายที่กว้างมากกว่า ซึ่งจะสามารถสนับสนุนตลาดที่อยู่อาศัยได้มากกว่า ดังเช่นที่ดำเนินมาแล้วในช่วง 2558 ในขณะเดียวกัน เกณฑ์สินเชื่อ LTV และ ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงยังกดดันความสามารถในการกู้เพื่อซื้อบ้าน ท่ามกลางรายได้ของครัวเรือนที่เติบโตในอัตราต่ำ
ข้อมูลของ AREA พบว่าที่อยู่อาศัยเหลือขาย (ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมขายและกำลังก่อสร้าง) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2018 มีจำนวนประมาณเกือบ 2 แสนหน่วย โดยเป็นที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทจำนวน 1.6 แสนหน่วย หรือประมาณร้อยละ 80 ของหน่วยเหลือขายทั้งหมด แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยแนบราบ 9.5 หมื่นหน่วย และคอนโดมิเนียม 6.5 หมื่นหน่วย –สำนักข่าวไทย