กรุงเทพฯ 23 ส.ค. – นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากพื้นที่ภาคเหนือได้รับอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำน่าน ทำให้เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,390 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ และยังคงมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ที่ 752 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก มีน้ำใช้การได้ 312 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีน้ำใช้การได้ 242 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ปัจจุบันปริมาณน้ำรวม 4 เขื่อนหลักอยู่ที่ 3,696 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคและการรักษาระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งปีถัดไป ที่มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด คลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำลงได้ โดยในช่วงฤดูฝนที่ยังเหลืออยู่กรมชลประทานจะเก็บกักน้ำฝนที่จะตกลงมาไว้ในเขื่อนให้ได้มากที่สุด สำหรับเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งและต้นฤดูฝนปีถัดไป โดยขณะนี้สถานการณ์น้ำในภาพรวมทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจและจากการคาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา มีแนวโน้มฝนจะตกกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานต่อจากนี้ไป
สำหรับการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำหลากเกิดจากฝนที่ตกหนักและท่วมขังในพื้นที่ทางตอนบนนั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน จนเข้าสู่ปกติแล้ว ระดับน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางตอนล่าง ประกอบกับก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้เตรียมการรองรับน้ำและระบายน้ำหลากไว้แล้ว ด้วยการขุดลอกแก้มลิงและกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำชลประทาน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เขื่อนพระราม 6 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ในเขตจังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันกรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จังหวัดชัยนาท มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 90 คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการกำจัดวัชพืชในคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำทุกสาย รวมระยะทางประมาณ 36,288 กิโลเมตร มีกำหนดเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้การระบายน้ำทางตอนบนและในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย