ภูเก็ต 25 เม.ย. – หลังวานนี้ สำนักข่าวไทย นำเสนอปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในภูเก็ต ซึ่งปีนี้รุนแรงมาก จนทำให้ประชาชนต้องออกมารวมตัวเรียกร้องให้ทางจังหวัดช่วยเหลือ วันนี้ไปตามกันต่อถึงสถานการณ์ล่าสุด รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน
สภาพของอ่างเก็บน้ำบางวาด ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.ภูเก็ต อยู่ในสภาพแห้งขอดจากภัยแล้ง ทำให้เห็นพื้นดินและสันทรายโผล่ขึ้นเป็นบริเวณกว้าง
เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ที่มีขนาดความจุน้ำรองลงมาจากอ่างเก็บน้ำบางวาด ก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานภูเก็ต ระบุว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งของภูเก็ต ณ วันนี้ มีพอใช้อีก 33 วัน ทำให้กรมชลประทานต้องปรับลดปริมาณการระบายน้ำให้กับการประปาส่วนภูมิภาคลง จากเดิมวันละ 60,000 ลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 26,000 ลูกบาศก์เมตร ประชาชนในหลายพื้นที่ประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำใช้ บางจุดเดือดร้อนหนัก น้ำประปาไม่ไหลติดต่อกันนานกว่า 2 เดือน
การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ท้องถิ่นและกองทัพภาคที่ 4 นำรถน้ำออกแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ จ.ภูเก็ต ได้สั่งการให้เร่งเจรจาขอซื้อน้ำจากขุมน้ำเอกชนที่มี 109 แห่ง เพื่อนำน้ำดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปา แต่ก็ดูเหมือนว่าแผนการดังกล่าวยังไม่คืบหน้ามากนัก
แนวคิดการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่หลายภาคส่วนเสนอให้ จ.ภูเก็ต หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาหารืออย่างจริงจัง และเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหา สร้างความมั่นคงของน้ำในระยะยาว
นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำที่พบเป็นประจำทุกปี ทำให้เทศบาลเมืองป่าตอง พยายามผลักดันโครงการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำใช้ แต่ก็ยังคืบหน้าไปไม่มาก เพราะติดขัดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเรื่องนี้เธอเสนอว่า จังหวัดควรเข้ามาช่วยท้องถิ่นในการดำเนินการ และให้เป็นวาระระดับจังหวัด หากทำได้จะช่วยสร้างความมั่นคงของน้ำให้เกิดขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อภาพรวมการท่องเที่ยวภูเก็ตในอนาคต
ขณะที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต มองปัญหาน้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อการท่องเที่ยวและการตัดสินใจลงทุนประกอบธุรกิจในภูเก็ต ส่วนแนวคิดการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่ทำได้จริง และไม่ยากในปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย และต้นทุนการผลิตที่ถูกลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อน
นอกจากแนวคิดนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืดแล้ว น้ำเสียจากระบบบำบัดน้ำของเทศบาลเมืองป่าตอง ในแต่ละวันที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลใหม่เป็นน้ำอาร์โอ โดยตัวกรองที่มีความละเอียดมากถึง 0.001 ไมครอน ทำให้น้ำที่ได้มีความใสสะอาดจนใช้ดื่มกินได้ เป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำที่เทศบาลเมืองป่าตองดำเนินการแล้วได้ผล โดยบริษัทเอกชนเป็นผู้ผลิต เทศบาลเมืองป่าตองเป็นผู้ให้สัมปทาน ปัจจุบันน้ำอาร์โอที่ผลิตได้วันละราว 4,000 คิว ช่วยให้โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงบ้านเรือนประชาชนในป่าตอง มีน้ำใช้มากถึง 250 แห่ง
ความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภคที่ลุกลามขยายวงกว้างในปีนี้ เป็นบทเรียนสำคัญให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักร่วมกันถึงการหามาตรการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเร่งรัดโครงการใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำในระยะยาว. – สำนักข่าวไทย