กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – สอน.จับมือ 3 พันธมิตร เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีไร่อ้อย เพื่อยกระดับสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่ง
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จับมือ 3 องค์กร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการในไร่อ้อย การพัฒนาทางด้านวิชาการ การพัฒนาด้านพันธุ์อ้อยและพัฒนาบุคลากร โดยมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในพิธีลงนาม
นายพสุ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงครั้งนี้ หน่วยงานทั้ง 4 จะร่วมดำเนินการในช่วง 5 ปีนับจากนี้ โดย สอน. สนับสนุนงบประมาณดำเนินการภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจะสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ บริษัทเกษตรไทยฯ จะสนับสนุนด้านสถานที่ ข้อมูลการนำไปทดสอบใช้ ขณะที่สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์สนับสนุนด้านข้อมูลและร่วมกันประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่อไป
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สอน.เริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่บริหารจัดการไร่อ้อยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 โดยเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ซึ่งได้พัฒนาระบบสารสนเทศรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลพร้อมกับการเห็นพื้นที่ไร่ของตนเองผ่านอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน สำหรับแก้ปัญหาการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ ตลอดจนมีการสาธิตการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในการเตรียมและปลูกอ้อยตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการจัดการไร่หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตผ่านเว็บแอพลิเคชั่น https://thaismartfarming.com และได้ดำเนินการต่อเนื่องปีงบประมาณ 2562 โดยขยายผลการดำเนินงานไปยังกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ไม่น้อยกว่า 30 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1,000 ไร่ได้ใช้งานระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบเว็บแอพพลิเคชั่นและสามารถเป็นต้นแบบให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการดำเนินการบริหารจัดการย่อยแปลงใหญ่ตามแนวคิดสมาร์ทฟาร์มมิ่ง
นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือเรื่องของโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรระยะที่ 2 วงเงินสินเชื่อปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวม 6,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถตัดอ้อยแร๊พเตอร์ เครื่องสางใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อยเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในไร่อ้อย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตอ้อย อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาวส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย