กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – ธนาคารโลกปรับลดจีดีพีไทยเหลือโตร้อยละ 3.8 เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวโตลดลง จับตาการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าอาจกระทบการลงทุน
ธนาคารโลก เปิดเผยรายงาน “East Asia and Pacific Update “ เดือน เมษายน 2562 โดยคาดการณ์ ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ลดลงจากประมาณการเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 และลดลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 3.8
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยธนาคารโลก กล่าวว่า สาเหตุที่ ธนาคารโลกปรับจีพีดีเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง เนื่องจากการส่งออกขยายตัวลดลงเหลือโตร้อยละ 5.7 จากปีก่อนที่โตร้อยละ 5.9 ส่วนปี 2563 ส่งออกโตร้อยละ 5.5 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัวลงจากภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ประกอบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยเติบโตลดลงด้วย จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวชะลอลง
อย่างไรก็ตาม แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เฉลี่ยโตร้อยละ 4-5 แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่แล้ว โดยการลงทุนภาครัฐ การลงทุนเอกชน การบริโภคภาคเอกชน เริ่มกลับมาขยายตัว คาดว่าปีนี้การใช้จ่ายภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.6 การใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.3 เป็นตัวหลักสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าอาจกระทบต่อโครงการลงทุนภาครัฐปี 2564 รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างให้ชะลอออกไปและอาจกระทบการลงทุนของภาคเอกชนเลื่อนตามไปด้วย แต่จะไม่กระทบการลงทุนปีนี้และปี 2563 เนื่องจากหลายโครงการเริ่มการประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า นโยบายการเงินการคลังของประเทศไทยมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่สูงมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น จึงยังมีช่องว่างที่จะให้รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ยังคงรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่.-สำนักข่าวไทย