กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-“พ.อ.วินัย” เผยเข้ามาทำโครงการโฮปเวลล์ปี 35-38 ต่อจาก “มนตรี พงษ์พานิช” แต่การดำเนินงานล่าช้า จนพ้นจากตำแหน่งก็ไม่ได้ตามเรื่องต่อ แนะรัฐตีแผ่สัญญาสัมปทานโฮปเวลล์และการดำเนินโครงการในแต่ละรัฐบาล รวมทั้งคำฟ้องและคำตัดสิน ย้ำใครเกี่ยวข้องต้องดำเนินคดีโดยไม่ละเว้น
พ.อ.วินัย สมพงษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรววงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทย” ถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐจ่ายค่าเสียหายให้กับเอกชนในโครงการโฮปเวลล์เป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทว่า โครงการนี้เริ่มตั้งแต่สมัยที่นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรี ปี 2533 แต่โครงการไม่คืบ เมื่อตนมาเป็นรัฐมนตรีปี 2535-38 จึงเรียกนายกอร์ดอน วู ประธานบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิงส์ มาประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจะทำโครงการต่อหรือไม่ ซึ่งโฮปเวลล์ยืนยันจะทำต่อ ก็ให้เดินหน้า เพราะอยากจะแก้ปัญหาการจราจร โครงการนี้จึงเริ่มดำเนินการจริงจังในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรี แต่การดำเนินการก็เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะช้ามาแล้ว 2 ปี บางส่วนรฟท.ก็เห็นด้วย บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันทราบว่าโฮปเวลล์ก็มีปัญหาอุปสรรคเรื่องงบประมาณ ถือว่าไม่สมประกอบทั้งสองฝ่าย และเมื่อตนพ้นจากตำแหน่งก็ไม่ได้ติดตามในรายละเอียด ทราบจากสื่อว่ามีการยกเลิกโครงการไป
พ.อ.วินัย กล่าวว่า มีข้อเสนอว่าขอให้ รฟท. นำสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์มาตีแผ่ให้สาธารณชนได้รับทราบ จะได้ทราบว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และให้ทำไทม์ไลน์ตั้งแต่ปี 2533 ที่มีการทำสัญญาสัมปทาน จนถึงวันที่ตัดสิน เพื่อให้ทราบว่ารัฐบาลไหน ทำอะไร ไม่ทำอะไร และตอนยกเลิกให้เหตุผลว่าอย่างไร จนกระทั่งถึงคำสั่งศาลวานนี้ (22 เม.ย.) จากนั้นให้นำคำฟ้องของบริษัทโฮปเวลล์ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายและคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ คำฟ้องของการรถไฟฯ ที่เรียกค่าเสียหาย คำตัดสินของศาลปกครองกลางครั้งแรกที่ตัดสินว่าโฮปเวลล์แพ้ และสุดท้ายนำคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด มาเปรียบเทียบว่ามีการกลับคำตัดสินด้วยเหตุผลอะไร หากนำหลักฐานเหล่านี้ออกมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้เปรียบเทียบ และเข้าใจ ตนมั่นใจว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น ทางรัฐบาลไทยน่าจะมีทางออกในเรื่องนี้
“กระทรวงคมนาคม รฟท. น่าจะได้เห็นทางออก ทางหนีทีไล่ว่าจะทำแบบไหน อย่างไร ผมมีความเห็นว่าทั้ง รฟท. น่าจะมีความบกพร่องเป็นเหตุให้โฮปเวลล์ฟ้องร้อง และในขณะเดียวกันโฮปเวลล์ก็มีข้อบกพร่องที่ รฟท. ฟ้องได้เช่นกัน ดังนั้นน่าจะเอาทั้งหมดมาตีแผ่ให้สังคมได้เห็น ถ้ารู้ว่าใครโกง ใครผิด ก็ว่าไปตามนั้น ไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ต้องเกรงใจว่าลูบหน้า ปะจมูก ทำตรงไปตรงมา ใครผิดลงโทษตามผิด ถ้าเป็นอย่างนี้กรณีโฮปเวลล์ก็จะเป็น กรณีศึกษาให้กับสังคม ให้คนหลาบจำในการที่จะละเว้นการทำชั่วในโอกาสหน้า” พ.อ.วินัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตของจุดกำเนินค่าโง่ดังกล่าวเป็นเพราะความหละหลวมของข้อสัญญาตามข้อสังเกตของทีดีอาร์ไอ หลังบอกเลิกสัญญา รฟท. ถือว่าโครงสร้างทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ และมีความพยายามนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต แต่ บริษัทโฮปเวลล์ เห็นว่าการที่ รฟท. เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเดือน พ.ย. 2551 ว่าทั้งสองหน่วยงาน บอกเลิกสัญญาไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิโดยให้จ่ายเงินชดเชยแก่โฮปเวลล์ เป็นเงิน 11,889 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 หลังจากนั้นทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ก็ดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองจนกระทั่งคดีถึงที่สุดในวันนี้ และรัฐต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายหรือที่เรียกว่าค่าโง่ดังกล่าว
ย้อนไทม์ไลน์ข้อพิพาทโฮปเวลล์
พ.ย. 2547 – โฮปเวลล์ ยื่นคำเสนอระงับข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
พ.ย. 2551 – คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาด สั่งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ชดใช้ค่าเสียหาย
มี.ค. 2557 – ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และระบุว่า การยื่นเรื่องให้อนุญาโตตุลาการเกินกรอบเวลา 60 วัน ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน
เม.ย. 2557 – โฮปเวลล์ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา
เม.ย. 2562 – ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ ยกคำร้องสองหน่วยงานรัฐ ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด.-สำนักข่าวไทย