กทม. 12 เม.ย. –ศปถ.สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลสงกรานต์ วันแรก เกิดอุบัติเหตุ 468 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 46 ราย ผู้บาดเจ็บ 482 คน ดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุหลัก ขณะที่จ.อุดรธานี มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 4 ราย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ คนที่สอง ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 468 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 46 ราย ผู้บาดเจ็บ 482 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 34.62 ขับรถเร็ว ร้อยละ 26.92 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.47 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.38 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.31 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.04 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.06 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 25.19 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,036 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,276 คน เรียกตรวจยานพาหนะ709,464 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 163,584 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 45,230 ราย ไม่มีใบขับขี่ 41,485 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (20 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (23 คน)
นายอาคม กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าวันนี้(12เม.ย.)จะเป็นวันหยุดวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ 2562 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทาง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้เน้นย้ำจังหวัด ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งถนนสายหลักและสายรอง โดยพิจารณาเปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง ทางลัด เพื่อให้การสัญจรเป็นไปด้วยความคล่องตัว มุ่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งจุดตัดทางรถไฟ ทางลัดผ่าน ทางแยก ทางร่วม และบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน พร้อมดูแลเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว เพื่อป้องกันการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท เน้นการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และสารเสพติด รวมถึงกำชับจุดตรวจ ด่านตรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจจับและปรับในอัตราโทษสูงสุด กรณีขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ.-สำนักข่าวไทย