กรุงเทพฯ 6 เม.ย.-กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการต่อเนื่องทำให้มีฝนตกในหลายจังหวัด บรรเทาภัยแล้งและปัญหาหมอกควัน ด้านกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อยอย่างรอบคอบ แต่ยืนยัน เขตชลประทานไม่ขาดแคลนน้ำ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวว่า ผลปฏิบัติการฝนหลวงสัมฤทธิผล โดยเฉพาะในภาคเหนือมีฝนตกลงมาในหลายจังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ พะเยา ลำปาง ปริมาณฝนเฉลี่ย 5 -10 มิลลิเมตร สามารถสร้างความชื้นในอากาศ ช่วยพื้นที่เกษตร และบรรเทาปัญหาหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง และในวันนี้ได้บินปฏิบัติการทั้งทางภาคเหนือตอนล่าง,ภาคกลาง ,ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะช่วยเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 ตามที่กรมชลประทานประสานงานมาได้แก่ เขื่อนแม่มอก จังหวัดลำปาง เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
“สภาพอากาศในระยะนี้ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศลดต่ำลง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากจีนได้ถอยกลับไป ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาระลอกใหม่ เมื่อปะทะกับมวลอากาศร้อนในไทยจะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้นและดัชนีค่าการยกตัวของเมฆดีขึ้น เอื้อต่อการปฏิบัติการ”นายสุรสีห์กล่าว
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยอย่างเขื่อนอุบลรัตน์นั้นได้กำหนดการใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนเขื่อนกระเสียวและเขื่อนทับเสลานั้น สถานการณ์ดีขึ้น พื้นที่นาปรังซึ่งเกินแผนที่กำหนดไว้นั้น ทรงตัวแล้ว มีการปลูกใหม่น้อยมากจากการที่กระทรวงเกษตรฯ แบบบูรณาการกับทั้งฝ่ายปกครองและทหารเข้าไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร
สำหรับจังหวัดที่อยู่นอกเขตชลประทานที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้แก่ บางพื้นที่ของจังวัด เชียงใหม่ ชัยภูมิ นครสวรรค์ เลย กาญจนบุรี ราชบุรี และนครราชสีมาได้นำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำระบบชลประทานมาเสริมเพื่อใช้ผลิตน้ำประปา เช่น อำเภอพิมายและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมาสูบน้ำจากแม่มูลและแหล่งน้ำของชลประทาน จังหวัดเชียงใหม่ใช้ฝายแม่แตงลำเลียงน้ำมาให้เขตชุมชน ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ใช้รถรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชน
“หน้าแล้งนี้ไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายวิตก บริหารจัดการให้มีน้ำเพียงพอใช้ และสำรองไว้ถึงต้นฤดูฝนและกรณีฝนทิ้งช่วยทุกภาคส่วน” นายทองเปลวกล่าว
ส่วนโครงการผันน้ำมาเติมเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรจากลำน้ำยวม โดยกั้นน้ำ ก่อนที่จะไหลไปบรรจบแม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะสร้างอาคารชลประทานกันน้ำไว้ ตั้งระบบสูบย้อนกลับมาไว้จุดสูงสุดสันเขา แล้วปล่อยน้ำลงมาตามแรงโน้มถ่วง ลงแม่น้ำปิงอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล ในปีนี้เริ่มสำรวจพื้นที่เพื่ออกแบบเป็นระบบท่อและอุโมงค์ใต้เขาคาดว่า รวมเวลาก่อสร้างแล้วจะเสร็จในอีก 5 – 6 ปีข้างหน้า -สำนักข่าวไทย