อย. 5 เม.ย.-อย.เผยได้รับร้องเรียน ยารักษาการสูญเสียการได้ยิน ขายและโฆษณาทางเว็บไซต์ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไม่ขึ้นทะเบียนกับ อย.และใช้พรีเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นแพทย์ด้วย แจ้ง ตร.ดำเนินการแล้ว เตือนผู้บริโภค ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาปลอม และผลข้างเคียง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทยขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ดำเนินการกรณีมีผู้แอบอ้างเป็นแพทย์และการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยโฆษณาจำหน่าย ยารักษาการสูญเสีย การได้ยิน Aural+ ของบริษัท Ravel อ้างข้อมูลเสนอความเห็นจากแพทย์ท่านหนึ่ง
จากการตรวจสอบเคยรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ Aural+ ทั้งสิ้น 6 เรื่อง เมื่อตรวจสอบไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด และพบว่าเว็บไซต์ที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ปรากฏข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับผู้ขายที่อยู่ในประเทศไทย มีการจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์ในหลายประเทศ
ส่วนวิธีการสั่งซื้อ จะต้องกรอกข้อมูลผู้ซื้อที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นจะมีการติดต่อกลับจากผู้ขาย ซึ่งเบอร์โทรดังกล่าวไม่สามารถโทรกลับได้ วิธีการส่งสินค้าจะเก็บเงินปลายทาง นอกจากนี้ยังพบมีพรีเซ็นเตอร์ที่อ้างว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเป็นแพทย์นั้น จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของแพทยสภา ไม่พบว่าเป็นแพทย์จริงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังพบการขายและการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาหยอดหู“JINGDU” ทางเว็บไซต์ http://2122.yeahlucky.com/ ระบุ “…สารสกัดจากพืช สูตรธรรมชาติ หูอื้อ หูหนวก สูญเสียการได้ยิน…ยาหยอดหูแบรนด์ JINGDU สารสกัดจากพืช สูตรธรรมชาติ …” ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีพฤติการณ์การกระทำผิดคล้ายกับกรณี Aural+ เช่น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีทะเบียน มีการจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์ในต่างประเทศ และวิธีการส่งสินค้าจะเก็บเงินปลายทาง เป็นต้น
ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว อย. ได้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงและจับกุมผู้กระทำผิดต่อไป
เลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า อย.และราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่ง ประเทศไทย มีความห่วงใยผู้บริโภคที่เป็นผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหู จึงขอเตือนให้ผู้บริโภค ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต ผู้ขายมีความผิด และผู้ซื้อมีความเสี่ยง อาจได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ และผลข้างเคียงจากยาได้ ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อ ได้ที่Application “ตรวจเลข อย.”เพื่อความมั่นใจ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ E-mail :
1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ .-สำนักข่าวไทย