กรุงเทพฯ 29 มี.ค.-“อุดม รัฐอมฤต” เปิดสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. ยืนยันไม่ซับซ้อน แต่ควรรอตัวเลขทางการ ติงพรรคการเมืองหยิบมาชิงความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การคำนวณที่นั่ง ส.ส. หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ โดยนำคะแนนบัตรดีของการเลือกตั้งครั้งนี้ 35,532,645 ใบ หารกับ 500 ซึ่งคือจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยของเสียงต่อ ส.ส. 1 ที่นั่ง หรือ 71,065.294 คะแนน จากนั้นนำมาหารคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ จะได้ที่นั่ง ส.ส. ที่พึงได้รับ ซึ่งผลออกมา ทำให้บางพรรค คือ พรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.เขตไปแล้วมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงได้รับ จึงไม่ได้รับจัดสรรให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม
“ทั้งนี้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้นำที่นั่ง 150 ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปจัดสรรให้กับพรรคที่ยังได้ ส.ส.ไม่มากกว่าจำนวนที่พึงได้รับ ซึ่งตามหลักการในการร่างกฎหมาย กรธ.และกกต.เห็นตรงกันว่าต้องนำตัวเลขของทุกพรรคที่ยังได้ ส.ส.ไม่ถึงตัวเลขที่พึงได้มารวมคำนวณหาสัดส่วนใน 150 ที่นั่งด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว จากตัวเลขแถลงอย่างไม่เป็นทางการของ กกต.ได้175 ที่นั่ง ดังนั้นจึงต้องนำจำนวนที่แต่ละพรรคพึงได้รับคูณกับ 150 ซึ่งคือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วหารด้วย 175 จะเป็นจำนวนที่แต่ละพรรคพึงได้ ทั้งนี้ตัวเลขที่คูณหารออกมา มีทั้งจำนวนเต็มและจุดทศนิยม พรรคที่ได้จะเริ่มจากจำนวนเต็มก่อน แล้วจึงไปพิจารณาจุดทศนิยม และในกรณีที่เมื่อคำนวณแล้วยังมีที่นั่งไม่ครบ 150 ต้องไปไล่ลำดับเรื่อย ๆ จากมากไปน้อย ตามจุดทศนิยมจนครบ” นายอุดม กล่าว
นายอุดม ยืนยันว่า สูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส.ดังกล่าวไม่ซับซ้อนถึงขั้นเข้าใจไม่ได้ แต่อาจเกิดข้อสับสนตรงสัดส่วนเก้าอี้เกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือที่เรียกว่าโอเวอร์แฮงค์ ทั้งนี้ตัวเลขที่ออกมายังไม่นิ่ง แต่พรรคการเมืองเอาผลคะแนนมาแข่งทะเลาะเบาะแว้ง ชิงความได้เปรียบของ 2 ขั้วทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นทุกฝ่ายควรรอให้ตัวเลขนิ่ง หรือได้ตัวเลขอย่างเป็นทางการเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขในภายหลัง เพราะวิธีคิดหรือสูตรที่วางไว้มีอยู่แล้วและไม่ซับซ้อน และหลักการในการร่างกฏหมายนี้ คือ อยากให้ทุกเสียงมีความหมายทุกเสียงเท่าเทียมกัน.-สำนักข่าวไทย