กรุงเทพฯ 25 มี.ค. – สปสช.เผยปี 2561 “สิทธิบัตรทอง” ดูแลผู้ป่วยมะเร็งกว่า 234,000 คน มะเร็ง 3 อันดับแรกที่มีผู้ป่วยรักษามากสุด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งลำไส้ใหญ่
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า มะเร็งเป็นโรคที่มีค่ารักษาแพงมาก สปสช.จึงได้บรรจุให้การรักษามะเร็งอยู่ในสิทธิบัตรทอง ที่ครอบคลุมการรักษามะเร็งทุกประเภท จากข้อมูลปี 2559-2561 มีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารักษา จำนวนกว่า 4.1 ล้านครั้ง ชดเชยค่ารักษากว่า 27,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2561 มีผู้ป่วยกว่า 234,000 คน รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษากว่า 1.43 ล้านครั้ง ชดเชยค่ารักษา 9,557 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า การรักษาโรคมะเร็งในระบบบัตรทอง ทำให้มีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง ช่วยยับยั้งภาวะลุกลามและลดอัตราการเสียชีวิต โดยมะเร็งบางประเภทรักษาให้หายขาดได้ในระยะเริ่มต้น
ผลสำเร็จยังเกิดจากความร่วมมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งทั่วประเทศ และด้วยการบริหารจัดการยาที่ดีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ได้ยามะเร็งที่มีราคาแพงเข้าสู่ระบบ เช่น ยาเลโทรโซล (Letrozole) และยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ซึ่งในปีนี้ สปสช.ยังคงดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่อง และได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรอายุ 50-70 ปี ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมาก แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบในระยะแรกเริ่ม. – สำนักข่าวไทย