กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – สนพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมกำหนดกรอบทุนวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยยึดตามหลักนโยบาย Energy 4.0 ที่พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบนโยบายไว้ ประกอบด้วย การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน การพัฒนาเมืองชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน
สำหรับระบบกักเก็บพลังงานเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง เพราะแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) มีผลการดำเนินงานยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งที่จะเสริมให้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนเดินหน้าได้รวดเร็ว คือ งานวิจัย ดังนั้น กองทุนฯ จึงเตรียมประกาศให้ทุนวิจัยในเรื่องระบบการกักเก็บพลังงาน เพื่อช่วยขยายผลในเรื่องของเทคโนโลยีและระบบการกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยฝีมือคนไทย มีเป้าหมายของการนำไปใช้ได้จริงภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับพื้นที่ห่างไกล และขาดแคลนแหล่งพลังงานสำรอง ลดปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานทดแทน และรองรับนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการเก็บสะสมพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จัดให้มีงานสัมมนาเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อกรอบทุนวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ขึ้น โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อเสนอมาปรับปรุงให้ชัดเจนและเตรียมความพร้อมก่อนจะประกาศรับข้อเสนอเดือนกันยายน 2559
ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เป็นการสนับสนุนภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2559 จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจริงของระบบกักเก็บพลังงาน ในเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การลดพีคไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม สร้างความเสถียรภาพให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พื้นที่ห่างไกล และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2560 เพื่อสร้างโอกาสด้านการตลาด กระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ของอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ และเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่ที่ดีกว่า และ/หรือเทียบเท่าต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการพัฒนาเทคโนโลยีและทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทยระยะ 20 ปี ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สนพ. และ สวทช.
“โครงการเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานจัดทำขึ้นตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องของการกักเก็บสำรองพลังงาน เช่น โซลาร์เซลล์ ติดปัญหาในการใช้ยามค่ำคืน หรือแม้แต่พลังงานลม หากมีการเพิ่มศักยภาพส่วนนี้ รวมถึงการขยายผลไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้จะเป็นการพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกได้ตามเป้าหมาย คือ ร้อยละ 30 ในปี 2579 เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานของไทย” นายทวารัฐ กล่าว.-สำนักข่าวไทย