กรุงเทพฯ 18 มี.ค.-พาไปดูโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ขณะที่ ทอท.ยอมเลื่อนขายซองประมูลดิวตี้ฟรี
วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ หรือว่า สคร. มีการเชิญให้รัฐวิสาหกิจที่มีส่วนสำคัญในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้รายงานความคืบหน้า ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ก็ได้รับความสนใจและจับตาว่า แต่ละงานมีความคืบหน้าแค่ไหน และจะมีการเปิดให้บริการในปีใด ซึ่งงานนี้ ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ก็ได้เข้ารายงานความคืบหน้าในงานก่อสร้างรถไฟฟ้าในกำกับดูแลของตนเอง
เริ่มจากรถไฟฟ้าของ รฟม. ปีนี้ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่จะเปิดต่อไป คือส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน จากหัวลำโพงไปถึงสถานีหลักสอง ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ พอขบวนรถมาถึง จะมีการทดสอบ และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม จะมีการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายนปีนี้
ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายอื่นๆ เช่น สายสีเขียว หมอชิต สะพานใหม่ คูคต คืบหน้า ร้อยละ 98.2 รอเปิดให้บริการเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้น ไม่นับรวมโครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด ที่มีแผน เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช ขอนแก่น อุดรธานี พิษณุโลก ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการที่แรกจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ ปี 2566 เป็นต้นไป
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นคราชสีมา –หนองคาย โครงการถไฟทางคู่ โดยผู้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุใน 5 ปีข้างหน้า รฟท.จะมีการลงทุนประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะวันพรุ่งนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ที่ รฟท.จะเรียกกลุ่มซีพี มาเจรจาครั้งสุดท้าย
ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เข้าร่วมประชุมด้วย พูดถึงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเมืองว่า แผนก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ เพียงพอแล้ว หากเส้นทางใดก่อสร้างได้คืบหน้าไปมากแล้ว ควรขยับเส้นทางที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อคืนระบบจราจรให้กับประชาชนได้สัญจรลดปัญหาจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพฯ และควรขยายการลงทุนไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เพราะขณะนี้เมืองเหล่านี้ ได้เติบโตมีปัญหาจราจรติดขัดเช่นเดียวกัน
ส่วนอีก 1 โครงการที่ได้รับการจับตา คือโครงการ พื้นที่เชิงพาณิชย์ และสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน หรือ ทอท. ที่มีข้อสงสัย ในส่วนดิวตี้ฟรีมีการรวมสัญญาของสนามบินสังกัด ทอท.ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หาดใหญ่ เชียงใหม่ และภูเก็ต ไว้ด้วยกัน โดยไม่แยกสัญญา หมวดหมู่ เป็นการผูกขาดหรือไม่ รวมทั้งกระทรวงคมนาคมยืนยันให้ ทอท.ตรวจสอบข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 โดยให้ถามไปยัง สคร. อีกครั้งว่าเข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกรณีดังนั้น ทอท.จะชะลอขายซองในวันพรุ่งนี้ ออกไป 1-2 สัปดาห์ และดูผลการชี้แจงที่เผยแพร่ผ่านสื่อวันนี้ ว่ามีประเด็นใหม่ ๆ ที่เป็นข้อสงสัยหรือไม่ แต่มั่นใจว่าการหาผู้บริหารพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนจะยังทำได้ตามเป้ากรอบเวลา คือ ได้ผู้ดำเนินการเดือนกันยายนนี้ เพื่อมีเวลา 1 ปี ให้เอกชนที่ได้งานเตรียมการเข้าบริหารพื้นที่ เนื่องจากสัญญา คิง เพาเวอร์ จะหมดเดือนกันยายน 2563
ส่วนเรื่อง พ.ร.บ. ร่วมทุน ทอท.มั่นใจ ได้ดำเนินการมาอย่างถูกต้อง ขณะที่ประเด็นการผูกขาดและการแยกหมวดหมู่สินค้าพื้นที่สนามบิน ในฐานะผู้บริหารพื้นที่สนามบิน ทอท. เข้าใจการหมุนเวียนและใช้พื้นที่ท่าอากาศยาน และการผูกสัญญาดิวตี้ฟรี 4 สนามบินไว้ด้วยกัน ทอท.เห็นว่าจำเป็นต้องหาผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง 1 ราย ในการดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ.-สำนักข่าวไทย