กรุงเทพฯ 17 มี.ค. – สถาบันอัญมณีฯ เผยยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ม.ค.62 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.50 เผยตลาดอียูขึ้นอันดับหนึ่งแทนฮ่องกง แนะเพิ่มช่องทางขายออนไลน์
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่อประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 807.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.56 หากคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 26,191.12 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 16.62 หากหักทองคำซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออกการส่งออกมีมูลค่า 504.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.50 คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 16,372.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42
ทั้งนี้ สาเหตุการส่งออกที่ลดลงมาจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปมีสัดส่วนถึงร้อยละ 37.49 ของการส่งออกทั้งหมด มีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 36.94 จึงเป็นตัวฉุดสำคัญทำให้ยอดส่งออกเดือนมกราคม 2562 ปรับตัวลดลง และยังมีการลดลงของสินค้าเครื่องประดับแท้และเพชรที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 และ 4 ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.92 และ 1.13 ตามลำดับ ถ้าไม่รวมทองคำคิดเฉพาะเครื่องประดับการส่งออกเพิ่มขึ้น สินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น พลอยสีเพิ่มร้อยละ 25.62 เครื่องประดับเทียมเพิ่มร้อยละ 5.23 เป็นต้น
สำหรับตลาดส่งออกขยายตัวสูงสุด ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) กลับมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดอียู เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.38 สหรัฐเพิ่มร้อยละ 1.11 ตะวันออกกลาง เพิ่มร้อยละ 20.13 เพราะกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ญี่ปุ่น เพิ่มร้อยละ 2.77 อาเซียน เพิ่มร้อยละ 23.03 และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เพิ่มร้อยละ 1.33 ส่วนฮ่องกงซึ่งเคยเป็นตลาดอันดับ 1 ลดลงร้อยละ 9.74 อินเดีย ลดร้อยละ 19.78 จีน ลดร้อยละ 16.93 รัสเซียและประเทศเครือรัฐเอกราช ลด ร้อยละ 81.08 โดยฮ่องกงและจีนที่ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เป็นปัจจัยกดดัน ทำให้ลดการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น ส่วนรัสเซียได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในทะเลดำ ทำให้คนลดการบริโภคลง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือนต่อไป คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี เพราะคู่ค้าหลายประเทศยังมีความต้องการบริโภค แต่ต้องจับตาปัจจัยที่จะกระทบการส่งออก ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า หากเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจะส่งผลดีต่อการส่งออก หากแย่ลงก็จะส่งผลกระทบ รวมถึงเหตุจลาจลบางประเทศในยุโรป ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ที่จะเป็นแรงกดดันต่อการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับ
ทั้งนี้ แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาสส่งออกหลายตลาด ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องศึกษาและหาโอกาสเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะตลาดที่มีแนวโน้มเติมโตดี ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ และโอมาน อาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว บรูไน และควรเพิ่มช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Twitter, LinkedIn ซึ่งได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงศึกษารูปแบบสินค้าที่กลุ่มเป้าหมายต้องการและจะต้องศึกษาแนวโน้มของสินค้า โดยสินค้าที่มาแรงปี 2562 เช่น เครื่องประดับแบบซ้อนเลเยอร์ และชาร์มที่ใส่สัญลักษณ์หรือตัวอักษรลงบนชิ้นงานได้ ส่วนสีประจำปีนี้ตามประกาศของ Pantone คือ Living Coral ซึ่งผสมผสานสีส้ม สีชมพู และสีแดง ผู้ประกอบการจึงอาจจัดหาสินค้าที่มีรูปแบบหรือสีสันตามเทรนด์ดังกล่าวเพื่อจำหน่ายในตลาด
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและการปรับตัวสถานการณ์โลก สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เตรียมเปิดอบรมหลักสูตรใหม่ล่าสุด SMART Jewelers กับ 4 หัวข้อเด็ดที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีหลักสูตรไว้ คือ 1.หลักสูตรทางรอดธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2.หลักสูตรถ่ายภาพเครื่องประดับสำหรับธุรกิจ 3.หลักสูตรสร้างบริหารโลกธุรกิจยุคดิจิตัล 4.หลักสูตรกลยุทธ์การสร้างความสำเร็จในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เริ่มอบรมวันที่ 20 เมษายน – 3 สิงหาคม 2562 (วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น.) ซึ่งเปิดรับสมัครแล้วสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-634-4999 ต่อ 301-306, 311-313 ได้.-สำนักข่าวไทย