ก.แรงงาน 13 มี.ค. – เลื่อนไปก่อน บอร์ดค่าจ้างนัดพิจารณาขึ้นค่าแรงปี 62 ใหม่ ปลายเดือน เม.ย.หลังวันนี้มี 46 จังหวัดแจ้งไม่ขอขึ้นค่าแรง ‘จรินทร์’ สั่งให้รีบแจงรายละเอียด และยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับช่วงใกล้เลือกตั้ง
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 20 กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 ว่า มี 46 จังหวัดที่แจ้งมาว่าไม่ขอขึ้นค่าแรง ทางคณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วยฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง มีความเห็นว่าควรขอให้ 46 จังหวัด ชี้แจงสาเหตุที่ละเอียด และชัดเจนกว่าที่ส่งมาให้คณะกรรมการฯ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา เพิ่มเติมว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ทำไมจึงไม่ขอขึ้นค่าแรง
ขณะเดียวกัน ตัวแทนจากหน่วยงานภาคเศรษฐกิจ คือกระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ค่าเงินบาทแข็ง การส่งออกเริ่มทรงตัว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและรอบคอบ ทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด ทั้งระบบเศรษฐกิจ นายจ้าง และลูกจ้าง
นายจรินทร์ กล่าวว่า จะนัดคณะกรรมการฯ ประชุมพิจารณาอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ส่วนจะสามารถประกาศขึ้นค่าแรงได้ก่อนวันแรงงานหรือไม่ เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้เพราะต้องผ่านการพิจารณาถึงความเหมาะสมจากคณะกรรมการฯ หากเหมาะสมก็คงจะประกาศได้
“สาเหตุที่เลื่อนเราดูเรื่องข้อมูลเป็นหลักไม่เกี่ยวข้องกับความกังวลเรื่องใกล้ช่วงเลือกตั้ง และขอย้ำว่า ไม่เคยยืนยันว่าการขึ้นค่าแรงจะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพียงแต่เดือนเมษายนจะเป็นการครบรอบปี จากการขึ้นค่าแรงเมื่อปีที่แล้ว และหากเลื่อนการขึ้นค่าแรงออกไปก็จะไม่มีการให้เงินย้อนหลังเราต้องเดินไปข้างหน้า และขอให้พี่น้องแรงงานมั่นใจว่าการเลื่อนครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการดับฝัน เรื่องขึ้นค่าแรงปีนี้ เพียงแต่ขอเวลาขอพิจารณาข้อมูล เพราะเหตุผลที่ 46 จังหวัดให้มาไม่ชัด หากตัดสินใจอะไรออกไปด้วยข้อมูลที่ไม่รอบด้านก็จะส่งผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ของคณะกรรมการฯที่เป็นตัวแทนพี่น้องแรงงานทันที” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ส่วนกรณี 46 จังหวัดที่ไม่แจ้งขึ้นค่าแรงนั้น นายจรินทร์ กล่าวว่า ขอไม่ให้ข้อมูล ระบุสั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในกลุ่มที่มีค่าแรงระดับปานกลาง
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 แบ่งเป็น 7 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1) ค่าจ้าง 308 บาท มี 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ระดับที่ 2) ค่าจ้าง 310 บาท มี 22 จังหวัด คือ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู สตูล
ระดับที่ 3) ค่าจ้าง 315 บาท มี 21 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง
ระดับที่ 4) ค่าจ้าง 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี
ระดับที่ 5) ค่าจ้าง 320 บาท มี 14 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา
ระดับที่ 6) ค่าจ้าง 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา
และระดับที่ 7) ค่าจ้าง 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง. –สำนักข่าวไทย