ก.แรงงาน 14 พ.ค. – ที่ประชุมไตรภาคีมีมติให้คณะอนุฯ ระดับจังหวัด เสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้อิสระจังหวัดเสนอมาได้เลยว่าต้องการตัวเลขเท่าไหร่ ก่อนเข้าที่ประชุมใหญ่พิจารณา ยังไม่ฟันธงว่าจะขึ้น 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศ 1 ต.ค.นี้ ขณะฝั่งนายจ้างกังวลที่ประชุมไตรภาคีจะเป็นเครื่องมือของรัฐ หลังสงสัยหวังรวบรัดให้ทัน ต.ค.
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 ร่วมกับตัวแทน 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล โดยมีประเด็นที่พิจารณาคือ แนวทางการคัดเลือกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ในการศึกษาวิจัย เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้าง ราย อุตสาหกรรม กรอบแนวทางการทบทวน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567
หลังการประชุมใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง นายไพโรจน์ เปิดเผยว่า ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงที่กำลังเป็นที่จับตาว่าจะขึ้น 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศ 1 ตุลาคมนี้นั้น ยืนยันว่าที่ประชุมวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปไปถึงตรงนั้น การดำเนินการต้องเป็นไปตามหลักของไตรภาคี ซึ่งความเป็นไปได้ยังมีได้ทุกทางคือ ขึ้น 400 บาททั่วประเทศ ตามประเภท หรือธุรกิจ แต่ละจังหวัดที่พร้อม
โดยการประชุมวันนี้มีมติเห็นชอบ ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดจัดประชุมเพื่อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 และเสนอผลการประชุมฯ ให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง และคณะกรรมการค่าจ้างใช้ประกอบการพิจารณา ส่วนแนวทางการพิจารณาให้ใช้สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมติที่ประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่นำมิติของเวลามาใช้ในสูตรฯ ประกอบกับการพิจารณา ตัวแปรเชิงคุณภาพตามมาตรา 87 โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และเศรษฐกิจและสังคม ในบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งตัวเลขตามแต่ละจังหวัดจะเสนอมาเลย อาจจะมากกว่า 400 บาท ในบางอาชีพก็ได้ ในอิสระสูตรที่จะคิด ไม่จำเป็นต้องเท่ากันแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างจะได้นำข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดกับข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม และแรงงานในภาพรวมทั้งระดับประเทศมาพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป
ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังเปิดเผยว่า ความยากของการประชุมวันนี้ คือต้องหาจุดร่วมที่รับได้ทั้งสองฝ่าย นายจ้างที่ต้องการให้มีอัตราเพดานและลูกจ้าง ที่หนุนให้ขึ้นเต็มที่ ย้ำว่าการขึ้นค่าจ้างต้องดูบริบทแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน เข้าใจว่าบางกิจการยังไม่พร้อม โดยเฉพาะเอสเอมอี ภาคเกษตร
ส่วนกรณีที่นายอรรถยุทธ ลียะวนิช ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ออกมาระบุว่าที่ประชุมวันนี้ ดูเร่งรีบรวบรัด เป็นเพราะอยากให้ได้ข้อสรุปภายในตุลาคมนี้ หรือไม่ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าการพิจารณาศึกษาระดับจังหวัด 2 เดือนเพียงพอแล้ว ในการเก็บข้อมูล ย้ำว่าการพิจารณาไม่ได้สนองกับการเมือง ยึดตามเหตุผล ความจำเป็น โดยการประชุมคณะกรรมค่าจ้างจะมีอีกครั้งในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ซึ่งการประชุมครั้งหน้าก็จะยังไม่ครบกำหนดเวลาที่ให้แต่ละจังหวัดไปศึกษากรอบตัวเลข คาดว่าจะสามารถเคาะออกมาได้ ในการประชุมช่วงเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ร่วมกับสภาองค์การนายจ้างอีก 15 สภาฯ ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ โดย ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าฯ กล่าวว่า หากขึ้นค่าแรง400 เท่ากันทั้งประเทศ 1 ตุลาคม นี้ทันที จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่มีเวลาเตรียมตัว ต้องมองความสามารถของผู้ประกอบการด้วย และจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศ ข้อเสนอว่า ควรใช้หลักการตามกฏหมายยึดหลักปฏิบัติจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในแต่ละจังหวัดและคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ การปรับค่าจ้าง //ควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงานสนับสนุนมาตรการทางภาษีลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ up-skill & re -skill //การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจควรเปิดให้มีการรับฟังความเห็นและศึกษาความพร้อมของแต่ละพื้นที่และประเภทธุรกิจก่อน
และภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ลดค่าครองชีพให้กับภาคแรงงานขั้นพื้นฐาน. -417-สำนักข่าวไทย