กรุงเทพฯ12 มี.ค. – งานวิชาการประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดอียูมีโอกาสเติบโตสูง แม้กฎระเบียบความเข้มงวดด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แนะผู้ส่งออกอย่ากังวลเกินเหตุ เร่งชิงกำลังซื้อกว่า 508 ล้านคน
Prof. Ludo Cuyvers ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศูนย์การศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม ในฐานะศาสตราจารย์ผู้บรรยายพิเศษ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ศูนย์การศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปร่วมกับศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขันของนิด้า เพื่อศึกษาข้อมูลขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกที่เหมือนจริงแบบจำลอง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบโดยเฉพาะช่วยประเมิน วางแผนและคัดสรรผลิตภัณฑ์ ซึ่งพิจารณาว่าน่าจะก่อให้เกิดโอกาสส่งออกที่เป็นไปได้ให้กับประเทศผู้ส่งออก พบว่า ประเทศไทยยังมีการส่งออกไปตลาดอียูน้อยกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยกังวลเรื่องกฎเกณฑ์ด้านสุขภาพของอียูที่มีความเข้มงวด
ทั้งนี้ จากการศึกษาประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “โอกาสในการส่งออกที่เป็นไปได้จริง” ถึง 10,858 หน่วยในอียู ซึ่งเท่ากับร้อยละ 21ของโอกาสในการส่งออกที่เป็นไปได้จริง หรือคิดว่ามูลค่าของศักยภาพการส่งออกถึง 166.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับร้อยละ 26.57 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในตลาดโลกอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจริงในประเทศไทย หรือการนำเข้าสินค้าเพื่อการส่งออกมีขีดความสามารถแข่งขันไม่ดีนัก จึงเป็นแรงกดดันที่ส่งผลให้จำนวนโอกาสการส่งออกที่เป็นไปได้จริงลดลงเหลือ 4,082 หน่วย ซึ่งเทียบเท่ากับ 25.7 ของมูลค่าการส่งออกโดยประมาณ โดยสาเหตุที่การส่งออกของไทยยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น คือ ผู้ส่งออกนอกตลาดอียู มีความวิตกกังวลต่อกฎเกณฑ์อันเข้มงวดต่าง ๆ ที่ใช้บังคับผู้ส่งออกไปยังตลาดอียูที่เกี่ยวกับสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศูนย์การศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การศึกษาก่อนหน้านี้จะพบว่า การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้เอฟทีเอไทยและอียู จะทำให้ไทยมีได้รับประโยชน์มากกว่าร้อยละ 2.6-2.8 ของจีดีพีโดยรวม เนื่องจากไทยเป็นประเทศคู่ค้าของอียูที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน และอียูเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในโลก รองลงมาจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แต่การเจรจาเอฟทีเอไทยและอียู ต้องหยุดลงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ควรให้น้ำหนักมากเกินไปในการแยกแยะระหว่างประเทศสมาชิกเก่าและใหม่ของอียู เช่น ประเทศโปแลนด์และสาธารณรัฐเชค ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ แต่สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกมากกว่าหลายประเทศที่เป็นสมาชิกเดิมในอียู เช่น ออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์และสวีเดน
“การเปิดเสรีตลาดนำเข้าของไทย-อียูภายใต้เอฟทีเอจะเปิดโอกาสให้ไทยได้เก็บเกี่ยวประโยชน์ทางการค้าอย่างมหาศาลไปยังตลาดอียูที่มีอยู่ 28 ประเทศ ประชากรกว่า 508 ล้านคน แต่ไทยต้องเตรียมความพร้อมและมีการสนับสนุนโดยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกที่เหมาะสมจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกของไทยปรับตัวและตอบสนองกฎเกณฑ์ระเบียบต่าง ๆ ที่จะส่งผลดีต่อสินค้าไทยในตลาดอียู” Prof. Ludo Cuyvers กล่าว.- สำนักข่าวไทย