เชียงใหม่ 11 มี.ค. – ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่หน้าแล้ง ขณะที่ลำไยพืชเศรษฐกิจของภาคเหนือกำลังออกดอก ชาวสวนลำไยที่เชียงใหม่จึงทำประกันภัยลำไยจากภัยแล้งผ่าน ธ.ก.ส. เป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของประเทศจนเกินเป้าหมายที่คาดไว้
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวและความแห้งแล้งที่แผ่ปกคลุม พร้อมๆ กับลำไย พืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากในเชียงใหม่และลำพูน กำลังเริ่มติดดอกออกผล อย่างสวนของลุงเสน่ห์ วัย 66 ปี ในอำเภอสารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำสวนลำไยมาทั้งชีวิต บอกว่า ช่วงนี้สำคัญที่สุดสำหรับลำไย เพราะเป็นช่วงติดดอกออกผล ลำไยจึงต้องการน้ำมาก หากเจอกับภัยแล้งลำไยจะเสียหายได้
แต่แล้งนี้ ลุงเสน่ห์ อุ่นใจมากขึ้น หลังจากทำประกันภัยลำไยจากภัยแล้ง ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการทำธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และบริษัทประกันภัยชั้นนำ 2 แห่ง ทำโครงการนำร่องใน 24 อำเภอของเชียงใหม่ เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยจ่ายเบี้ยประกันเริ่มต้นเพียง 299 บาท สำหรับทุนประกัน 10,000 บาท และสูงสุดจ่ายเบี้ยไม่ถึง 3,000 บาท สำหรับทุน 100,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 61 วัน ในหน้าแล้ง ตั้งแต่มีนาคมสิ้นสุดเมษายน โดยจะใช้ดัชนีฝนแล้งและปริมาณน้ำฝนที่ตรวจวัดด้วยดาวเทียมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแล้งต่างกันเป็นตัวชี้วัดความแล้งและจ่ายชดเชย อย่าง อ.สารภี ค่าดัชนี้ความแล้งอยู่ที่ 29 วัน หากฝนไม่ตกเลย บริษัทจะจ่ายให้ร้อยละ 9 ของวงเงิน อย่างลุงเสน่ห์ซื้อประกันไป 299 บาท ทุนประกัน 10,000 บาท จะได้ชดเชย 900 บาท และหากยังไม่มีฝนตกอีกรวมเวลา 34 วัน ซึ่งถือว่าแล้งรุนแรงจะจ่ายชดเชยให้อีกอีกร้อยละ 12 หรืออีก 1,200 บาท
นั่นก็ทำให้ประกันภัยลำไยจากภัยแล้งได้รับความสนใจจากชาวสวนลำไยอย่างล้นหลาม เพียง 2 สัปดาห์ของการเปิดโครงการ ตั้งเป้าชาวสวนลำไยเพียง 500 คน แต่กลับได้รับความสนใจมากถึง 1,052 ราย ในปีต่อไปจะขยายโครงการให้มากขึ้น รวมทั้งต่อยอดไปยังการประกันภัยไม้ผลเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และเหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในอาชีพเกษตรกรให้มากขึ้น. – สำนักข่าวไทย