สธ.10มี.ค.-สธ.ห่วงข้าราชการที่ได้รับเงินเกินสิทธิ สั่งตรวจสอบและเจรจา ก.คลัง ขอผ่อนชำระหนี้ระยะยาว 5-10ปีไม่มีดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบให้ ด้านเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ ออกแถลงการณ์ขานรับ 2 ข้อสั่งการ สธ.และเสนอเพิ่ม 3 ข้อ เช่น ขอให้แจ้งผลสอบในการคิดเงินเดือนผิดและแจ้งผลการหารือกับ ก.คลัง
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการได้รับเงินเกินสิทธิ โดยมอบให้ผู้ตรวจราชการทั้ง 12 เขตสุขภาพ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการคิดเงินเดือน
ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบให้ข้าราชการกลุ่มนี้ เนื่องจากหลักเกณฑ์การคืนเงินของกระทรวงการคลัง ถ้าไม่เกิน 50,000 บาทต้องชำระภายใน 1 ปีและหักเงินเดือนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งค่อนข้างมาก ได้เตรียมเจรจากับกระทรวงการคลังขอผ่อนชำระหนี้ระยะยาวขึ้น โดยเงินไม่เกิน 50,000บาท ขอผ่อนชำระภายในเวลา 5ปี และหากจำนวนเงินมากกว่า 50,000 บาท ขอยืดเวลาไปถึง 10ปี หักเท่ากันทุกเดือนไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยให้การผ่อนต่อเดือนจำนวนน้อยลง
ขณะที่เฟซบุ๊ก ‘ริซกี สาร๊ะ’ ของนายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และเลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ โพสต์แถลงการณ์ ฉบับที่ 1 กรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขหลายร้อยราย โดยระบุว่า
จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข มีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิคืนหรือได้รับเงินเดือนเกินอัตราคุณวุฒิจริง ในกลุ่มพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 11ธันวาคม 2555 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1ธ.ค.2557 โดยเฉลี่ยคนละประมาณ 30,000-35,000 บาท สูงสุดเกือบ 100,000 บาท ซึ่งมาจากการทำบัญชีเงินเดือนผิดพลาดจนได้รับเงินเดือนเกินสิทธิมาถึง 5 ปี โดยขณะนี้มีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิคืนในหลายพื้นที่จำนวนมากกว่า 300 รายนั้น
เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ประกอบด้วยสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ สหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข และชมรม ว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน หวังอยากเห็นบุคลากรทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง และทำตามตัวชี้วัดและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขตลอดมา ‘ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน’ ด้วย
ทั้งนี้ หลังจากทางเครือข่ายฯ มีการสะท้อนปัญหา และทราบว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการ 1.มอบให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการคิดเงินเดือนผิดมา 5 ปีหลายร้อยรายและ2.กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมเจรจากับกระทรวงการคลัง ขอผ่อนผันชำระหนี้ระยะยาวขึ้น โดยเงินไม่เกิน 50,000 บาท ขอผ่อนชำระภายในเวลา 5 ปี และหากจำนวนเงินมากกว่า 50,000 บาท ขอยืดเวลาไปถึง 10 ปีหักเท่ากันทุกเดือน ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบให้ข้าราชการกลุ่มนี้มีการผ่อนต่อเดือนจำนวนน้อยลง (เนื่องจากหลักเกณฑ์การคืนเงินของกระทรวงการคลัง ถ้าไม่เกิน 50,000 บาท ต้องชำระภายใน 1 ปี และหักเงินเดือนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งเป็นภาระต่อผู้คืนเงินเป็นอย่างมาก)
ซึ่งทั้งสองประเด็นที่สั่งการ สอดคล้องตามแนวทางที่เครือข่ายฯเรียกร้องและคาดหวังให้ผู้บริหารลงมาดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืนด้วย
อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯยังมีความกังวลใจเรื่องแนวทางและข้อสรุปที่ชัดเจนหลายประการ จึงข้อเสนอดังนี้
1.ขอให้กระทรวงสาธารณสุข มีการแจ้งผลสอบข้อเท็จจริงในการคิดเงินเดือนผิด และแจ้งผลการหารือกับกระทรวงการคลัง และแนวทางการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน ให้เครือข่ายรับทราบด้วย
2.ขอให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงและกำชับผู้บริหารในพื้นที่ที่มีปัญหา มิให้มีการกล่าวโทษ กล่าวหา กดดัน หรือมีท่าทีบั่นทอนขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขที่ถูกเรียกเงินเดือนเกินสิทธิคืน ทั้งทางวาจา หรือทางสื่อสาธารณะด้วย
3.ขอให้กระทรวงสาธารณสุข วางระบบการตรวจสอบสิทธิเงินเดือนและค่าตอบแทน เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกในอนาคต หรือเมื่อเกิดแล้วสามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนแจ้งให้ผู้ได้รับผลกระทบทราบแต่เนิ่นๆได้ .-สำนักข่าวไทย