กรุงเทพฯ 5 มี.ค. – สรท.คงเป้าส่งออกปี 62 โตร้อยละ 5 แนะผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงรับเงินบาทผันผวน
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 5 บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญจากความผันผวนของบรรยากาศการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า Brexit และความไม่สงบระหว่างประเทศอินเดียและปากีสถาน ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อภาคการส่งออกและการขนส่งสินค้าทางอากาศ ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการเสนอราคา มาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ และความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีและการต่อรองสิทธิพิเศษทางด้านภาษีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรป (อยู) และไทย ขณะที่เวียดนามกำลังจะทำ FTA Vietnam- EU และข้อกฎหมายภายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก รวมทั้งการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากประเทศญี่ปุ่นภายในเดือนเมษายน หลังจากไทยถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีจากทั้งอเมริกาและยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการส่งออกเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 616,104 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 756,664 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนมกราคม2562 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 140,561 ล้านบาท
ทั้งนี้ การส่งออกเดือนมกราคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่มที่ยังคงมีการเติบโตในตลาด แต่ยางพาราหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก 2562 จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อตกลงการค้า EU-Vietnam FTA การถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีจากประเทศญี่ปุ่น ความตกลง USMCA ต่อกลุ่มยานยนต์และยางรถยนต์ เนื่องจากมีเงื่อนไขให้การผลิตรถยนต์ต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศถึงร้อยละ 75 นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มเทคโนโลยีจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง เพราะไทยยังไม่มีสินค้าใหม่เพื่อช่วยส่งออก และสิ่งที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างมากในช่วงปัจจุบันคือ แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก
ทั้งนี้ สรท.เสนอแนะรัฐบาลใหม่ให้พิจารณากำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกควรบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งเปิดตลาดใหม่หรือตลาดทดแทน เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณถดถอยและความไม่แน่นอนของสงครามทางการค้า การหาตลาดใหม่จะช่วยกระจายความเสี่ยงและหาตลาดรองรับสินค้า หรือการเปิดกลุ่มผู้บริโภครายใหม่ให้เหมาะสมแต่ละกลุ่มสินค้า นอกจากนี้ภาครัฐควรเร่งเจรจาเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากไทยเริ่มถูกปฏิเสธในการใช้สิทธิ์จีเอสพี อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสหรัฐ อียู ญี่ปุ่น ซึ่งการเจรจาเอฟทีเอถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศคู่ค้าที่เริ่มทยอยตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร RCEP และ CPTPP เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย