กทม. 27 ก.พ.-แม้จะสิ้นสุดโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน ปีที่ 2 กับการปั่นจักรยานร่วมกันของผู้พิการกับคนปกติ เพื่อระดมเงินสร้างศูนย์ฝึกคนพิการอาเซียน จ.นครปฐม ขณะนี้ยังระดมไม่ได้ตามเป้า และยังมีคนพิการหลายคนยังคงรอโอกาส
ท่วงท่ามุ่งมั่นของ อาร์ม ผู้พิการทางสายตา ตลอดระยะทางกว่า 1500 กิโลเมตรผ่าน 15 จังหวัดใช้เวลา 14 วัน แม้มองไม่เห็นเส้นทาง แต่ถึงเส้ยชัยด้วยใจทุ่มเทและทักษะการสื่อสารที่ดีของคู่ปั่นบนจักรยานสองตอน
อาร์ม ประสาทตาฝ่อจนตาบอดตอน 18 ปี สู้ความท้อ-ความกลัวมา 2 ปี กว่าจะลุกขึ้นฝึกฝน เรียนหนังสือ จนทำงานเลี้ยงดูตนเองได้ เป็นแพทย์แผนไทยสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เริ่มแรกคนไม่ยอมรับ แต่เมื่อเห็นฝีมือก็ไม่ปฏิเสธ การปั่นจักรยานสร้างความเข้าใจให้รู้ว่า คนพิการก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากได้รับโอกาสที่ดี อย่าตีกรอบจำกัดความสามารถ
ด้านพี่โย่ง นักธุรกิจ สละเวลางาน 15 วันมาร่วมปั่นจักรยานเล่าว่า กิจกรรมนี้ทำให้เข้าใจว่าคนพิการไม่ได้ต้องการให้คนดูแลหรือสงสาร แต่อยากได้โอกาส ที่ผ่านมาบริบทของสังคม ยังไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ได้พูดคุยหรือเข้าใจกัน
เป้าหมายของการปั่นครั้งนี้ คือระดมเงินสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเชียงดาวต่อ หลังจบโครงการปีแรกยังขาดเงินอีกกว่า 100 ล้านบาท แต่ได้เริ่มเปิดสอนอาชีพให้คนพิการเกือบ 300 ครอบครัวแล้ว รวมถึงสร้างศูนย์ฝึกที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีคนพิการจำนวนมาก ทำอาชีพขายลอตเตอรี่ เบื้องต้นได้เปิดสอนปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ เลี้ยงจิ้งหรีด และเพาะเห็ด เพื่อเลี้ยงตัวเองและสร้างรายได้
คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าคนพิการทำงานไม่ได้ มีผู้พิการวัยทำงานถึง 6 แสนคนยังว่างงาน จึงเสนอขอให้เร่งรัดการให้บริการศูนย์พัฒนาคนพิการทั่วประเทศ บังคับใช้กฎหมายเพื่อสิทธิคนพิการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คนเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
มีเสียงสะท้อนว่าความพิการไม่ใช่ปัญหา เเต่การไม่ได้รับโอกาสคืออุปสรรคใหญ่ เหมือนกับความเจ็บป่วย ที่คนทั่วไปไม่ได้เข้าถึงการรักษา ก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ เเต่คนพิการ หากไม่ได้โอกาส เปรียบเสมือนมีชีวิตแต่ไม่มีอากาศหายใจ.-สำนักข่าวไทย