กรมควบคุมโรค 30 ส.ค.- นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านใน จ.น่านรับประทานคางคก จนมีผู้เสียชีวิต และอาการสาหัส ว่า จริงๆแล้วคางคกไม่สัตว์ที่ควรนำมารับประทาน เพราะธรรมชาติสัตว์ชนิดนี้มีพิษเอาไว้ป้องกันตัว ซึ่งพิษจะอยู่บริเวณข้างคอ ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพราะผู้ปรุงรสไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ พิษจึงยังคงตกค้าง ส่วนผู้ที่ทานเนื้อไก่ที่ปิ้งในตะแกรงปิ้งเดียวกันกับคางคกจนมีอาการคลื่นไส้อาเจียน นั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากการนำเนื้อไก่ไปล้างหรือปรุงพร้อมกันจนพิษไปตก ค้างในเนื้อ ซึ่งพิษของคางคกนั้น มีความรุนแรงค่อนข้างมาก เพราะพิษจะเข้าสู่หัวใจ ซึ่งพิษที่มีผลต่อหัวใจจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว ไม่เกิน 30 นาทีจะมีอาการชัดเจน เริ่มตั้งแต่อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง รวมถึงอาจมีอาการสับสน วิงเวียน บางคนแพ้มากจะเกิดอาการความรู้สึก สติจะเปลี่ยนแปลง มีอาการชัก หมดสติ ที่สำคัญคือ หัวใจจะเต้นช้าลง ผิดจังหวะ จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว
ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่ยังต้องการกินคางคก ต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย นพ.โอภาส กล่าาว่า ตามหลักการแล้วถ้ารู้ว่าสิ่งใดมีพิษก็ไม่ควรทานตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็น คางคก ปลาปักเป้า แมงป่อง แมงมุมต่างๆ
ยากที่จะบอกว่ากินอย่างไร ทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากพิษ ส่วนตัวเข้าใจว่ากบ และคางคกก็คงมีรสชาติไม่ต่างกัน ฉะนั้นกินกบน่าจะปลอดภัยกว่า ต่อให้กินคางคกแล้วร่างกายจะไม่เป็นอะไร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีพิษ เพราะแต่ละตัวพิษมีปริมาณต่างกัน ฉะนั้นเลิกกินดีกว่า ถ้ารู้ว่าอะไรมีพิษก็ไม่ควรกิน นพ.โอภาส กล่าว
ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากพบว่าคนที่ทานด้วยมีอาการผิดปกติ อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดให้รีบหยุดกินทันที และทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาสิ่งที่กินออกมาให้เร็วที่สุด และรีบนำตัวส่ง รพ.และหลีกเลี่ยงการทานร่วมกับแอลกอฮอลล์เพราะจะยิ่งส่งผลให้พิษเข้าสู่หัวใจได้เร็วขึ้น ส่วนยารักษาอาการขณะนี้ยังไม่มียาที่รักษาอาการพิษคางคกโดยตรง เพียงแต่มียารักษาแก้พิษในลักษณะใกล้เคียงกันเท่านั้น และ รพ.ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สำรองยาชนิดนี้ไว้ด้วย เพราะพบผู้ป่วยน้อย และยาไม่ได้มีทั่วไป รวมทั้งมีราคาแพง
ทั้งนี้ สถิติผู้ป่วยที่เกิดจากการกินคางคกมีจำนวนไม่มากนักจากข้อมูลสถิติเฉลี่ยพบปีละ 2-3 ราย ส่วนสัตว์พิษที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือปลาปักเป้า และแมงกระพรุน เฉลี่ยปีละ 10 กว่าราย ส่วนพืชพิษที่ยังพบมากที่สุดยังเป็นเห็ดพิษ ทุกรายที่พบจะเสียชีวิตแทบทุกรายเฉลี่ยปีละประมาณ 100 ราย.-สำนักข่าวไทย