นนทบุรี 25 ก.พ. – พาณิชย์หารือเอกชนปรับส่งออกใหม่ ระบุส่งออก ม.ค.ติดลบอย่าตกใจ มั่นใจดีขึ้นไตรมาส 2-3 ไม่หวั่นสงครามการค้าสหรัฐและจีน แต่ห่วงเงินบาทแข็ง
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวภายหลังเชิญผู้ส่งออกกลุ่มสินค้าสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยเข้าร่วมหารือรับมือสถานการณ์การส่งออกที่ติดลบมากถึงร้อยละ 5.6 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเป็นการลดลงตามฤดูกาลไม่อยากให้ทุกฝ่ายตกใจมากเกินไป เพราะข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีการส่งออกไตรมาสแรกจะไม่ค่อยดีนัก แต่ทุกอย่างจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะนำข้อเสนอของภาคเอกชนทุกกลุ่มไปปรับให้เข้ากับแผนส่งเสริมการส่งออกของกรมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งการเจาะลึกลงไปในรายอุตสาหกรรม ทำให้ทราบจุดแข็ง-จุดอ่อนเป็นรายสินค้าสามารถจะกำหนดแผนกระตุ้นโดยเฉพาะเป็นรายสินค้าในการบุกแต่ละตลาดได้ เชื่อว่าจะได้ผลมากกว่าแผนเดิมที่ทำเป็นภาพรวม เช่น สิ่งทอ ต้องให้ความสำคัญกับวัตถุดิบใหม่ ๆ ขณะที่อัญมณีและเครื่องประดับ สามารถใช้การค้าออนไลน์เข้ามาช่วยรุกตลาดได้ ส่วนสินค้าเกษตรและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาจต้องใช้มาตรการรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะนำไปหารือร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
“ตัวเลขส่งออกเดือนมกราคมจะติดลบ แต่ก็เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งคำสั่งซื้อมักชะลอช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ หลังจากนี้ก็จะดีขึ้น และหลายสินค้ายังไปได้ดี เช่น อาหาร สิ่งทอ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น จึงมั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกทั้งปีจะยังเป็นบวก ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงยืนยันเป้าหมายส่งออกร้อยละ 8 ไว้ตามเดิม แม้ว่าจะไม่ง่าย แต่จะพยายามทำให้เต็มที่ เพื่อให้ตัวเลขการส่งออกไทยขยายตัวได้ดี” น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ร้อยละ 3-5 แม้เดือนแรกของปีจะติดลบ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะดีขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2561 เอกชนมองว่าส่งออกจะโตร้อยละ 5 ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 8 ท้ายที่สุดก็จบลงที่บวกร้อยละ 6.7 เชื่อว่าปี 2562 ถ้ารัฐกับเอกชนทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้นการส่งออกน่าจะไปได้ดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบหลายด้านที่น่าห่วง โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ กระทบรายได้จากการส่งออกในภาพรวม ซึ่งคาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรน่าจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมคาดว่าบวกร้อยละ 3 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสงครามการค้าและการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานที่กดดันให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น และเท่าที่ได้พูดคุยกับภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มมั่นใจว่าปัญหาของสงครามการค้าสหรัฐกับจีนจะไม่กระทบต่อการค้าไทยมากนัก แต่จะเป็นการเสริมให้สินค้าไทยมีตลาดมากขึ้น แต่สิ่งที่กังวลอย่างมาก คือ ความผันผวนของค่าเงินบาทไทยที่อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลไม่ควรให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป.-สำนักข่าวไทย