ทำเนียบรัฐบาล 30 ส.ค. – นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อปกป้องให้คนไทยได้บริโภคและใช้สินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ พร้อมปรับระบบการทำงานของส่วนราชการให้กระชับ เพื่อส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งรองรับ S-curve และไทยแลนด์ 4.0
สำหรับร่างปรับปรุงพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร มีการเปลี่ยนแปลง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการอนุญาต เดิมสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติ และเมื่อแก้ไขพระราชบัญญัติแล้วจะทำให้สามารถมอบหน่วยงานอื่นช่วยดูแลเกิดความรวดเร็วมากขึ้น เช่น กรมการข้าวดูแลเรื่องคำขอใบอนุญาตเกี่ยวกับข้าว กรมการปศุสัตว์ดูแลคำขอที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์
ด้านการกำหนดมาตรฐานบังคับและการยกเว้นบังคับ เดิมจะใช้บังคับเฉพาะผู้ผลิตเท่านั้น แต่ในอนาคตมาตรฐานดังกล่าวจะครอบคลุมผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกแล้วแต่กรณี เนื่องจากมาตรฐานบังคับบางอย่างใช้บังคับเฉพาะสินค้าส่งออกเท่านั้น เช่น การส่งออกไก่ไปจำหน่ายสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไรก็ตาม จะไม่กระทบกับสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ
ด้านเครื่องหมายรับรอง เดิมมีเพียง 2 แบบ คือ เครื่องหมายบังคับที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องมี แบบที่ 2 เป็นเครื่องหมายโดยสมัครใจที่จะมาขอได้ แต่ในอนาคตเพื่อสามารถรองรับสินค้าเฉพาะบางอย่าง เช่น สินค้าออร์แกนิคที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ไม่สามารถออกเครื่องหมายรับรองได้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารฯ จะสามารถออกมาตรฐานได้ ขณะเดียวกันสินค้าฮาลาล ก็จะมีเครื่องหมายฮาลาลรับรองมาตรฐานสินค้าที่ส่งออกไปได้ทั่วโลก
ด้านการยอมรับสินค้ามาตรฐานบังคับจากต่างประเทศ เดิมต้องทำเรื่องขอรับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานจากหน่วยงานของไทยอีกครั้ง กฎหมายแก้ไขใหม่จะมีมาตรฐานชัดเจนว่าถ้ามีประเทศมาตรฐานบังคับทัดเทียมประเทศไทยสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องตรวจ โดยไม่ต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นการยอมรับ 2 ประเทศ และไม่ต้องมีการลงนาม ขณะเดียวกันในประเทศที่มีมาตรฐานแตกต่างจากประเทศไทย หน่วยงานของไทยสามารถมอบหมายให้ประเทศนั้น ๆ ตรวจรับรองตามมาตรฐานของหน่วยงานมาตรฐานของไทยได้ โดยคำรับรองจากหน่วยงานต่างประเทศ จึงจะทำให้สะดวกมากขึ้น
ด้านการออกมาตรฐานบังคับกรณีเร่งด่วนกรณีดูแลด้านสุขอนามัยของประชาชน เช่น การปนเปื้อน สามารถออกประกาศได้ทันที โดยไม่ต้องออกกฎกระทรวงและสามารถนำมาตรฐานทั่วไปที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศมาใช้ได้ทันทีส่งผลให้มีความคล่องตัว
ส่วนการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะมีการเปลี่ยนแปลง 7 ด้าน ซึ่งเป็นการแก้ไข พ.รบ.เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เพื่อปรับให้การพิจารณามาตรฐานเร็วขึ้นสอดรับการมี New S-Curve และไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี เพื่อให้สินค้าอุตสาหกรรมสามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้เร็วขึ้น รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องแรกที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น คณะกรรมการวิชาการผู้กำหนดมาตรฐาน จากเดิมแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี แต่หลังแก้ไขแต่งตั้งโดยคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) การออกประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรม จากที่ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ใช้เวลามากเปลี่ยนเป็นให้รัฐมนตรีประกาศได้เลย ช่วยร่นระยะเวลาการออกประกาศมาตรฐานจากเดิมใช้เวลานานถึง 542 วัน ลดลงเหลือ 180 วันเท่านั้น หรือจากปีครึ่งเหลือเพียงครึ่งปี ทำให้สามารถออกมาตรฐานเร็วขึ้น หากเป็นการออกมาตรฐานทั่วไปจะลดระยะเวลาจากเดิม 390 วัน จะลดลงเหลือ 150 วัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทลงโทษจากเดิมจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นปรับขั้นต่ำ 50,000 บาท เพิ่มวงเงินปรับขึ้นสูงเป็น 5 ล้านบาท เพื่อปกป้องให้ประชาชนไทยได้รับสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันเพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจและเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาดำเนินคดีสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 100 ราย มูลค่า 3,700 ล้านบาท โดยเฉพาะสินค้าเหล็ก.-สำนักข่าวไทย