กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – ผู้บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิ้งก์ ยอมรับลุ้นระทึก เจรจาระหว่างการรถไฟฯ และเอกชนที่ประมูลโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน จบหรือไม่ ระบุกำหนดเวลาเดิมต้องเซ็นสัญญาโอนทรัพย์สิน มีค.-เม.ย.นี้ หากการเจรจาล้มหรือล่าช้า ต้องเดินหน้าเตรียมแผนซ่อมใหญ่ปี 64 หรือปัดฝุ่นแผนจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา มีมติไม่รับข้อเสนอของกลุ่มซีพีที่ยื่นข้อเสนอลงทุนโครงการมีเงื่อนไขเพิ่ม 12 ข้อ คณะกรรมการระบุว่าไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากขัดมติ ครม.และเงื่อนไขประกวดราคาตั้งแต่เริ่มโครงการ ล่าสุดคณะกรรมการเตรียมเรียกกลุ่มซีพีเข้ามารับทราบมติ และสอบถามว่าจะลดเงื่อนไขเจรจาหรือยุติทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากนั้นจะเชิญเอกชนประกวดราคาได้ลำดับถัดไปเจรจาต่อ ซึ่งอาจส่งผลต่อกรอบเวลาดำเนินการของโครงการ จากเดิมต้องได้เอกชนลงทุนเดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากนั้นการโอนทรัพย์สินทั้งโครงสร้างโครงการ และขบวนรถแอร์พอร์ตลิงค์ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องโอนให้เอกชนชนะการประมูล เพื่อนำโครงสร้างทั้งหมดเชื่อมกับรถไฟฟ้า 3 สนามบิน
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังคาดหวังว่า การเจรจาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนไม่ว่ารายใดก็ตามจะยังบรรลุเป้าหมายสามารถได้เอกชนตามกรอบเวลาในเดือนมีนาคม-เมษายนปีนี้ เพื่อให้เกิดการลงนามโอนทรัพย์สิน แต่หากโครงการสะดุดไม่ว่ายกเลิกโครงการ หรือล่าช้าออกไป ก็จะกระทบแผนการบริหารเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ ที่เดิมได้รับมอบภารกิจเดินรถให้ได้มาตรฐานในช่วงการเปลี่ยนผ่านในระยะเวลาอีก 2 ปี เพื่อไม่กระทบการให้บริการแก่ประชาชน
แต่หากล่าช้าเกินเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมปีนี้ จำเป็นต้องปรับแผนโดยเฉพาะการซ่อมบำรุงใหญ่ ที่จะครบรอบปี 2564 ซึ่งตามแผนเดิมจะเป็นหน้าที่เอกชนรายใหม่ที่รับโอนทรัพย์สินรับไปดำเนินการ แต่หากทรัพย์สินยังอยู่ในความครอบครองของแอร์พอร์ตลิงค์ก็จะต่องซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อให้ระบบสมบูรณ์ ทั้งขบวนรถ ระบบอาณัติสัญญาณ และโครงสร้าง ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าค่าซ่อมบำรุงครั้งต่อไปจะปรับสูงขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ทำการซ่อมบำรุงใหญ่ไปแล้ว ทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวนสามารถกลับมาใช้งานได้พร้อมกัน เนื่องจากการซ่อมบำรุงใหญ่จะพิจารณาตามอายุการใช้งานของขบวนรถไฟฟ้า ที่มีอายุใช้งานรวม 30 ปี การซ่อมบำรุงจะใช้งบประมาณสูงขึ้นตามอายุการใช้งานที่มากขึ้น ในช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องล่าช้ามากกว่า 2 ปี หรือล้มเลิกโครงการ ยอมรับว่าอาจจะต้องพิจารณาแผนจัดซื้อขบวนรถเพิ่ม จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีแผนจัดซื้อขบวนรถ 7 ขบวน แต่ชะลอไป เพื่อทำแผนนำโครงการไปรวมกับโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน ดังนั้น ฝ่ายบริหารจะพิจารณาปรับแผนตามความเหมาะสมของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย