กรุงเทพฯ 17 ก.พ.- นักวิชาการระบุ นโยบายสวัสดิการและแนวทางรัฐสวัสดิการตามที่พรรคการเมืองต่างๆนำเสนออาจส่งผลต่อฐานะทางการคลังหากไม่มีการปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณ
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคการเมืองต่างๆได้แข่งขันกันนำเสนอนโยบายโดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการต่างๆ บางพรรคการเมืองเสนอให้ไทยพัฒนาสู่ระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนโยบายทางด้านสวัสดิการต่างๆและการก้าวสู่ระบบรัฐสวัสดิการนั้น ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้และอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังได้หากไม่มีการปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณ ลดการจัดซื้ออาวุธโดยกองทัพและลดการทุจริตรั่วไหลจากงบการใช้จ่ายภาครัฐ ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการนั้นต้องมีสัดส่วนของรายได้ภาษีต่อจีดีพีไม่ต่ำกว่าาร้อยละ 40-50 และมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีคิดเป็นร้อยละ 25-30 ขึ้นไป ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีคิดเป็นร้อยละ 15-18 เท่านั้น นอกจากนี้ไทยยังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างงบประมาณโดยลดสัดส่วนของงบประจำลงด้วยการปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ และ ป้องกันการทุจริตรั่วไหลจากการใช้จ่ายเงินภาครัฐ
“นโยบายและมาตรการต่างๆของหลายพรรคการเมืองมุ่งไปที่การดูแลคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบาย “เอื้อคนจน” (Pro-poor policy) เป็นเรื่องที่ดี นโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเติบโตเฉพาะเศรษฐกิจฐานบน ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากยังมีความอ่อนแออยู่”
นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคการเมืองต่างๆต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะนำเงินงบประมาณจากส่วนไหนมาจัดสรรหรือเก็บภาษีจากไหนมาใช้ให้เป็นไปตามนโยบายต่างๆที่ได้ประกาศเอาไว้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาฐานะทางการคลังและปัญหาวินัยการเงินการคลัง การสามารถอธิบายได้ว่า จะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จัดสรรทรัพยากรอย่างไร จะทำให้เราทราบถึงจุดยืนของพรรคการเมืองและเห็นว่าพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องใดชัดเจนขึ้น รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งอาจจำเป็นต้องเก็บภาษีลาภลอย ภาษีทรัพย์สินเพิ่มเติม หรือ เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้ามากขึ้น หรือ ศึกษาการเก็บภาษีจากกำไรการซื้อขายในตลาดทุน เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องเสนอให้มีการตัดลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธ ในช่วงที่สี่ปีที่ผ่านมา มีการจัดซื้อรถถังไปแล้ว 52 คันเป็นเม็ดเงินงบประมาณ 9.2 พันล้านบาท จัดซื้อเรือดำน้ำด้วยงบผูกพันมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น หากสามารถลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง ลดการรั่วไหล ลดความสูญเปล่าและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณให้ตรงเป้าหมาย ลดการจัดซื้ออาวุธลงได้ ทำให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อสวัสดิการสำหรับประชาชน และ เพื่อการลงทุนได้ต่างๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 2-5 แสนล้านบาท
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ควรใช้ “กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี” และ “พรบ วินัยการเงินการคลัง” มาบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรมหรือทำให้พรรคการเมืองต่างๆมีความยากลำบากในการนำเสนอนโยบายสาธารณะที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน พรรคการเมืองขาดความยืดหยุ่นและขาดความเป็นอิสระในการนำเสนอนโยบายหรือทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งมีความยากลำบากในการดำเนินการตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม หากผู้มีอำนาจกำกับการทำงานอย่างมีธรรมาภิบาลและตรงไปตรงมาก็จะช่วยถ่วงดุลไม่ให้มีการนำนโยบายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาวินัยการเงินการคลังและความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจมาใช้ในการหาเสียงได้ มองในแง่บวก พรบ วินัยการเงินการคลัง ด้านหนึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองเวลานำเสนอนโยบายต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ มีการศึกษาวิจัย ว่าจะนำเงินรายได้ นำงบประมาณมาจากไหนเพื่อสนับสนุนนโยบาย ไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินการคลังในระยะยาว -สำนักข่าวไทย