กรุงเทพฯ 15 ก.พ. – รมว.เกษตรฯ เผย สนช.ตัดมาตรา 27 พ.ร.บ.ข้าว ทำให้ชาวนาสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ ส่วนการป้องกันขายเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมให้อำนาจกรมการข้าวออกประกาศควบคุมสายพันธุ์ที่มีปัญหา
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับทราบจากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ.… ว่า คณะกรรมาธิการเห็นควรตัดมาตรา 27 ที่ห้ามจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวออก เนื่องจากเป็นการจำกัดโอกาสในการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโดยชาวนา ซึ่งตั้งแต่อดีตชาวนาปลูกข้าวแล้วเก็บพันธุ์ข้าวใช้เอง โดยคัดเลือกเมล็ดที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ เป็นการพัฒนาสายพันธุ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เกิดพันธุ์ดี ๆ เช่น ข้าวเสาไห้ ข้าวสังข์หยด การตัดมาตรานี้ออกไปยังลดข้อจำกัดการแข่งขันตลาดข้าวในต่างประเทศ เนื่องจากหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้หลากหลาย โอกาสที่จะได้ข้าวสายพันธุ์ดีเกิดขึ้นใหม่จะมีอย่างต่อเนื่อง ต่อไปอาจกลายเป็นสายพันธุ์ที่ส่งออกได้ เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ส่วนการป้องกันการปลอมปนสายพันธุ์ข้าวนั้น ปัจจุบันมีทั้ง พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ที่กำกับโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง พ.ร.บ.ค้าข้าว พ.ศ. 2489 กำกับโดยกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมดูแลอยู่แล้ว
ด้านนายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า แนวทางป้องกันการลักลอบจำหน่ายพันธุ์ข้าวปลอมนั้น จะกำหนดให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมการข้าว ในการออกประกาศกรมฯ ห้ามจำหน่ายข้าวเป็นรายสายพันธุ์ กรณีที่พบว่าอาจมีการปลอมปนเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์นั้นๆ จำหน่าย โดยมอบหมายให้กรมการข้าวกำหนดแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ การตรวจสอบ การควบคุม เป็นต้น ซึ่งทั้งแนวทางปฏิบัติและการออกประกาศห้ามจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละครั้งต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก่อน
ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้ประกอบการรวบรวมข้าว ต้องออกใบรับรองข้าวเปลือกทุกครั้งที่มีการรับซื้อจากชาวนา หากตรวจพบว่าไม่ตรงกับชื่อสายพันธุ์ที่ระบุในใบรับรองข้าวเปลือก จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากการเรียกชื่อพันธุ์ข้าวแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่าง หรือชาวนาไม่ทราบสายพันธุ์ที่แท้จริง เห็นว่า หากยังมีบทบัญญัตินี้อยู่จะเกิดความยุ่งยากและปัญหาตามมา โดยเฉพาะเกิดอุปสรรคแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนที่รับซื้อและรวบรวมข้าวเปลือก หากมีปัญหาทางกฎหมายจะเดือดร้อนมาก จึงทำหนังสือเสนอให้คณะกรรมมาธิการตัดมาตรานี้ออกด้วย
ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ.…. ผ่านการพิจารณาของ สนช. วาระ 1 แล้ว จากนั้นแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯก่อนสรุปให้ สนช.พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไป ดังนั้น นักวิชาการทีดีอาร์ไอ และผู้แทนสมาคมต่างๆ จึงเสนอให้ สนช.ยืดเวลาออกไปก่อน เพื่อเปิดกระบวนการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายแก้ไขมาตราสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อวงการข้าว.-สำนักข่าวไทย