ธปท. 14 ก.พ. – ผู้ว่าการ ธปท.ยันไม่พบเงินบาทเคลื่อนไหวผิดปกติ ยอมรับเงินบาทแข็งค่าเร็วจากปัจจัยภายนอก
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่พบความผิดปกติในการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าเร็วบางช่วง ซึ่ง ธปท.ได้เข้าดูแล โดยพบว่าเงินทุนที่ไหลเข้าไทยเป็นเงินที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะจากการค้าและบริการที่มาจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเที่ยวไทยตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 ปี 2561 ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะเดือนธันวาคม 2561 เกินดุล 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ยังยืนยันว่าหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วมากจากการเก็งกำไร หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินของนักลงทุน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบันนักลงทุนขายสุทธิในตลาดพันธบัตรมูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะเป็นพันธบัตรระยะสั้น ขณะที่มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมปริมาณเงินทุนไหลออกสุทธิ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่ำกว่าสหรัฐที่ร้อยละ 2.50 และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียร้อยละ 6 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 6 เวียดนามร้อยละ 6.25 มาเลเซียร้อยละ 3.25
ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่าไม่สามารถกำหนดค่าเงินบาทให้คงที่ได้ เพราะปัจจัยต่างประเทศมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากและมีแนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ เศรษฐกิจโลก และการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนได้มากขึ้น เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นสามารถรองรับความผันผวนได้มากกว่าไทยและเห็นว่าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ไทยควรเร่งเรื่องของการลงทุน นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนได้ นอกจากนี้ ต้องปรับคุณภาพสินค้า ตราสินค้า เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันกับคู่แข่งได้ ไม่ใช่เน้นเรื่องราคา เพราะจะไม่ยั่งยืน
พร้อมกันนี้แนะนำให้ผู้ส่งออกใช้สกุลท้องถิ่นในการค้าขายต่างประเทศ เพราะจะมีความผันผวนน้อยกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะปัจจุบันผู้ส่งออกใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการค้าขายต่างประเทศร้อยละ 70-75 และให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือใช้ FX Option กับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่งได้ .-สำนักข่าวไทย