กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้กรดซัลฟิวริกจนมีข่าวว่าส่งผลกระทบมายังบริษัทมิชลินและบริดสโตน ผู้ผลิตล้อยางและยางรถถยนต์ระดับโลกประกาศไม่รับซื้อผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีข่าวว่าจะระงับแผนก่อสร้างโรงงานมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าของโครงการลงทุนสร้างโรงงานผลิตล้อยางว่าจะระงับการลงทุน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นข่าวในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงด้านการลงทุนของประเทศที่ขณะนี้มุ่งเน้นเพิ่มผลิตภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นด้วยนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่ industry 4.0 ภาคอุตสาหกรรมจึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมล้อยางใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับผลิตสินค้าก็จำเป็นต้องมียางพาราคุณภาพสูงตามไปด้วย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้เกษตรกรชาวสวนยางเลิกใช้กรดซัลฟิวริก ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าเคยมีการรณรงค์ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคากรดซัลฟิวริกถูกกว่า จึงมีการใช้อยู่ ดังนั้น จึงยังมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่ดูแลเกษตรกรชาวสวนยางต้องเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจและรณรงค์ให้เกษตรกรชาวสวนยางเลิกใช้กรดซัลฟิวริกให้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอุตสาหกรรมผลิตล้อยางไทยใช้ยางพาราภาพรวมปีละ 400,000 ตัน ส่วนภาพรวมการใช้ยางพาราทั้งประเทศอยู่ที่ปีละ 700,000 ตัน
ปัจจุบันประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ส่งออกยางรถยนต์และยางสำหรับจักรยานยนต์ โดยมียอดส่งออกรวมกันปีละ 150 ล้านเส้น เป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลกขยับขึ้นจากอันดับ 6 ปีที่แล้ว อัตราการเติบโตของ การส่งออกยางรถยนต์และจักรยานยนต์ภาพรวมครึ่งปีแรกปีนี้เติบโตร้อยละ 5 และคาดว่าตลอดปีนี้จะสามารถเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกทั้งปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้น.- สำนักข่าวไทย