กรุงเทพฯ 12 ก.พ. – ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินภาพรวมการส่งออกปีนี้ยังสามารถขยายตัวเกินร้อยละ 4 แต่ถือเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทยปี 2562 ภายใต้ความผันผวนเศรษฐกิจโลกของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า การส่งออกของไทยยังคงเผชิญปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก โดยเฉพาะปัญหาสงครามทางการค้าที่ยื้ดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์จะขยายตัวร้อยละ 2.5 จากปี 2561 ที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 2.9 รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐและจีน รวมถึงยุโรปที่จะชะลอตัวลงตาม รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ของไทยที่แข็งค่ามากกว่าภูมิภาค ราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง รวมถึงการที่สหรัฐ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีของไทย 11 รายการ และแม้สหรัฐยืดระยะเวลาขึ้นภาษีจากจีน เป็นร้อยละ 25 ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกให้ผ่อนคลายลง และไทยยังคงมีปัจจัยบวกสำคัญจากการที่สหภาพยุโรป (อียู) ปลดใบเหลืองประมงไทย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2562 ไทยจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 2560 และหากเทียบในอาเซียนการส่งออกไทยมีอัตราการขยายตัวลดลงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยเวียดนามส่งออกลดลงมากที่สุด รองลงมาเป็นสิงคโปร์ และหากดูเป็นรายตลาด การส่งออกของไทยในตลาดสำคัญทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น อียู จีน และอาเซียน ถือว่ามีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด คาดว่าจะลดลงทุกตลาด ส่วนตลาดอื่น ๆ เช่น อินเดีย แคนาดา ตะวันออกกลาง แอฟริกา และรัสเซีย นับเป็นตลาดใหม่ที่ไทยควรหันมาทำยุทธศาสตร์เชิงรุก เพราะยังมีสัดส่วนการส่งออกของแต่ละตลาดต่ำกว่าศักยภาพที่ไทยจะส่งออกไปได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์การถอนตัวออกจากสมาชิกอียูหรือ BREXIT และข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ อียู-เวียดนามที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ไทยส่งออกไปอียูลดลง รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้น แม้เดือนกุมภาพันธ์เงินบาทจะอ่อนค่าลงมา แต่ยังถือว่าแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย หลังจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นร้อยละ 33.4 แข็งค่าที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
ทั้งนี้ คงต้องติดตามประเด็นการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากสหรัฐเลื่อนการขึ้นภาษีจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ที่จะสิ้นสุด 1 มีนาคม 2562 หากผลการเจรจาสำเร็จทั้ง 2 ประเทศ ไม่มีการขึ้นภาษีระหว่างกันอีก การส่งออกของไทยจะกระทบเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.5 หรือประมาณ 1,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากผลการเจรจาล้มเหลวมีการขึ้นภาษีตามแผนเดิมการส่งออกของไทยจะกระทบร้อยละ 1 หรือ ประมาณ 2,367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณีเลวร้ายสุด คือ การเจรจาล้มเหลว มีการทำตามแผนเดิมและขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีก การส่งออกไทยจะหดตัวลงร้อยละ 1.9 หรือประมาณ 4,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย