ทีดีอาร์ไอ 11 ก.พ. – ทีดีอาร์ไอจับมือชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออก ค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว หวั่นกระทบชาวนาปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ได้ โทษสูงคล้ายก่ออาชญากรรม เสนอขยายเวลารับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีอีอาร์ไอ) จัดสัมมนา “ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … : ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” โดยเชิญสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวเข้าร่วมให้ความเห็น
ในการเสวนาระบุว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้าวนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญเตรียมสรุปเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 เร็ว ๆ นี้ เห็นว่าร่างแก้ไขดังกล่าวยังมีประเด็นน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรา 27 กฎหมายให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์หรือข้าวปลูกใช้เองแบบในอดีตจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งชาวนารวมกลุ่มกันพัฒนาสายพันธุ์และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์จะดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากมีบทบัญญัติอัตราโทษสูงถึงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ทางนักวิชาการทีดีอาร์ไอและผู้แทนสมาคมต่าง ๆ ขอให้ สนช.ยืดเวลาออกไปก่อน เพื่อเปิดกระบวนการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายแก้ไขมาตราสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อวงการข้าว หากพิจารณาไม่ทันสมควรให้รัฐบาลใหม่มาดำเนินการ
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตชาวนาเก็บพันธุ์ข้าวใช้เองคัดเลือกที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาสายพันธุ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปให้เกิดพันธุ์ดี เช่น ข้าวเสาไห้ ข้าวสังข์หยด ต่างจากการพัฒนาโดยบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนั้น หากกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนรับรองจะส่งผลให้การพัฒนาสายพันธุ์โดยชาวนาไม่สามารถทำได้ต่อไปต้องซื้อจากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์เท่านั้น
ในวงเสวนายังห่วงใยมาตรา 34 ภายใต้บทเฉพาะกาลที่โอนอำนาจการรับรองพันธุ์ใหม่ให้กรมการข้าว เป็นประเด็นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกรมการข้าวเป็นผู้คุมเงินงบประมาณ เป็นผู้วิจัย และเป็นผู้รับรองตัวเอง รวมถึงการกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงสี ต้องออกใบรับรองข้าวเปลือก หากพบว่าออกใบรับรองเป็นเท็จจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงสี โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของกรมการค้าภายในและการให้อำนาจนี้เสี่ยงต่อประเด็นการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งอัตราโทษเสมือนเป็นการก่ออาชญากรรรม สำหรับองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการด้านการผลิตและคณะอนุกรรมการด้านการตลาดนั้น เห็นว่ามีแต่ข้าราชการโดยตำแหน่ง ขาดในส่วนของผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรงสี/ผู้ส่งออก อีกทั้งในกระบวนการทำงานยังขาดการบูรณาการด้านงบประมาณ และไม่ได้กำหนดรูปแบบการตรวจสอบติดตามการทำงานเลย
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ระบุว่าข้าวเป็นพืชสำคัญของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง แต่ปัจจุบันการทำนากำลังประสบปัญหาทั้งระบบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน ปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพ และคุณภาพผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงสมควรปรับปรุง และพัฒนา เพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตมีความมั่นคง ยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ ตลอดจนสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งตามยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกควบคุมการผลิต และการจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้รับซื้อ มีคณะกรรมการข้าวที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ เพื่อให้มีการนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีระบบที่ให้ความคุ้มครองชาวนาให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และรักษาความเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อกำหนดในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ให้ผู้จำหน่ายพันธุ์ข้าวได้ต้องจดทะเบียนนั้น เป็นการจำกัดสิทธิ์ในการขยายพันธุ์ข้าวของชาวนา ซึ่งตามวิถีการทำนามาตั้งแต่ในอดีต ชาวนาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทั้งใช้เองและจำหน่าย นอกจากนี้ จะเป็นข้อจำกัดการแข่งขันตลาดข้าวในต่างประเทศ เนื่องจากหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้หลากหลายโอกาสที่จะได้ข้าวสายพันธุ์ดีเกิดขึ้นใหม่จะมีอย่างต่อเนื่อง จึงควรปล่อยเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามีการหลอกลวงขายเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือปลอมปนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปัจจุบันมีทั้ง พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ที่กำกับโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง พ.ร.บ. ค้าข้าว พ.ศ. 2489 ที่กำกับโดยกระทรวงพาณิชย์ควบคุมดูแลอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย