กรุงเทพฯ 5 ก.พ. – “กฤษฎา” สุดปลื้ม ดันปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติสำเร็จ สร้างรายได้เกษตรกร หนุนส่งออกเพิ่ม จากปีละ 115 ล้านบาท
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติประกาศให้ “ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย” ว่า กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยนักวิชาการของกรมประมงศึกษาข้อมูลรอบด้านทั้งมิติด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนาน ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามีสาระสาคัญ คือ ข้อกฎหมาย ประกอบด้วยปลากัดมีความหลากหลายของสายพันธุ์และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จึงไม่เข้าข่ายเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีที่ขอรับสิทธิบัตรได้ (พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522) ปลากัดไม่สามารถจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ เนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงได้ จากหลายพื้นที่ของประเทศไทย (พ.ร.บ. คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546) ต่อมาปลากัดไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (พ.ร.บ. ส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559)
สำหรับมิติด้านความเป็นเจ้าของและความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น ปลากัดไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางระดับสากลในชื่อ Siamese Fighting Fish หรือ Siamese Betta ซึ่งชื่อ Siamese เป็นสิ่งสะท้อนชัดเจนว่า ปลากัดไทยมีต้นกำเนิดจากประเทศไทย และเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ด้านพันธุศาสตร์นั้น ปลากัดแม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่มีที่มาจากสายพันธุ์เดียวกับปลากัดป่าของไทยทั้งสิ้น และผลิตจากเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากัดทั่วประเทศ ไทยแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดนครปฐม การพัฒนาสายพันธุ์เน้นที่ความสวยงามจนมีผู้ให้นิยามความงามของปลากัดดุจ “อัญมณีใต้น้ำ”
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลากัดสามารถเลี้ยงได้ทั่วโลก โดยมีข้อมูลส่งออกจากไทยไปยังกว่า 95 ประเทศ ปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2556 – 2560 จำนวน 20.85 ล้านตัวต่อปี มูลค่า 115.45 ล้านบาทต่อปี ค่าเฉลี่ย 5.42 บาทต่อตัว จึงเห็นควรใช้เหตุผลนี้ประกาศให้ “ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ” เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ยังมีมิติด้านประโยชน์ใช้สอยหลายประการ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงและการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนำสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล อีกทั้งสามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์การประมงของไทยและสามารถนำไปใช้ประกอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นไทยได้ (คล้ายกับปลาคาร์ฟที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์การประมงของญี่ปุ่น) เพื่อป้องกันชาวต่างชาตินำปลากัดไทยไปจนสิทธิบัตร รวมทั้งสามารถนำไปอ้างอิงในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ไซเตส) ได้ด้วย
นายกฤษฎา ย้ำว่าการที่ ครม.เห็นชอบประกาศให้ “ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย” จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนที่จะสามารถรักษา “ปลากัด” ซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวไทยมาเนิ่นนานตามประวัติศาสตร์ ข้อมูลการวิจัยทางมีนวิทยาหรือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลาสวยงามอย่างมาก เนื่องจากสามารถเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออก อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบสินค้าอื่น ๆ ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมาก.-สำนักข่าวไทย