กรุงเทพฯ 2 ก.พ.-กลุ่ม ปตท.เดินหน้าขยายกิจการในพื้นที่อีอีซี ทั้งปิโตรเคมีและโรงกลั่น เร่งพัฒนายูโร 5 โดย รวมลงทุนเฉลี่ยปีละ 3-4 แสน ล้านบาท ในช่วง 5 ปีนี้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.มีแผนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 5 ปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 3-4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง จะเป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ รวมถึงยังศึกษาขยายไปสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ สำหรับเงินลงทุนของ ปตท.ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 1.3 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการขยายงานในธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก การดูแลระบบโลจีสติกส์และคลังเทอร์มินัล เนื่องจากมีความต้องการน้ำมันสำหรับใช้ภาคพื้นและน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้นในภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้และรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน.
“โครงการลงทุน อีอีซี ปตท.อยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะสอดรับการกลยุทธ์ของปตท.หรือไม่ เช่นโครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง และจะนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการปตท.พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ การลงทุน จะเป็นไปตามหลักการทำงาน สร้างสมดุล 3 มิติ ได้แก่ People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคมอย่างมีส่วนร่วม, Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และProsperity ที่เน้นด้านความมั่นคงทางพลังงานก่อน ”นายชาญศิลป์กล่าว
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 4 ปีนี้ที่ราว 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ ร้อยละ90 จะใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project :CFP) ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จาก 2.75 แสนบาร์เรล/วันในปัจจุบัน ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการในปี 66 สำหรับในปีนี้จะใช้เงินรวมปีนี้ราว 4 หมื่นล้านบาท จะสามารถรองรับการปรับคุณภาพน้ำมันได้ตามมาตรฐาน EURO V และก็พร้อมจะเร่งรัดให้เร็วขึ้นมาแล้วเสร็จในปี 65 ได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพอากาศดีขึ้น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ (ORP: Olefins Reconfiguration Project) เป็นการก่อสร้างโครงการโอเลฟินส์แห่งใหม่ เริ่มผลิตภายในปี 63 มูลค่าลงทุนราว 3.6 หมื่นล้านบาท ,โครงการผลิตสารโพรพิลีน ออกไซด์ (Propylene Oxide Project) และ โครงการผลิตสารโพลีออลส์ (Polyols Project) หรือโครงการ PO/Polyols เป็นโครงการในสายโพลียูริเทน โดยทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมกันประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ปี 63
สำหรับปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ราว 4 หมื่นล้านบาท ,การลงทุนในโรงงานรีไซเคิลขนาดราว 4 หมื่นตัน/ปี ใช้เงินลงทุนราว 3 พันล้านบาท และใช้ลงทุนในโครงการร่วมลงทุนกับพันธมิตร ราว 0.5-1 หมื่นล้านบาท
นายนพดล ปิ่นสุภา เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทจะเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ชื่อ GDP (Power of Growth Power of Digital และ Power of People) มีเป้าหมายใช้งบลงทุนในช่วง 5 ปีที่ราว 7 หมื่นล้านบาท ใช้ในโครงการโครงการ Maximum Aromatics (MARS) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตันต่อปี และผลิตเบนซีน 3-5 แสนตันต่อปี , โครงการลงทุนซื้อกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจ, โครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) การลงทุนรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro V เป็นต้น
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุน หลังจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ด้วยการจะเข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) มูลค่าไม่เกิน 1.4 แสนล้านบาทในปีนี้ เพื่อจะพิจารณาให้มีความสมดุลทั้งในส่วนรายได้และหนี้สิน เพื่อรองรับทิศทางการลงทุนใหม่ๆในอนาคต
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ของปตท. ในฐานะประธานกรรมการ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่สามารถให้ข้อมูลแผนงานต่างๆได้มากนักเพราะอยู่ระหว่างเตรียมการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีปริมาณขายปิโตรเลียมเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 5 ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2573 เพื่อให้การเติบโตของบริษัทเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และจะเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมจากระดับ 5 ปี หรือระดับ 670 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 7 ปี มาอยู่ที่ราว 900 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าหากได้ลงนามสัญญาเพื่อรับสิทธิเป็นผู้ดำเนินโครงการแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุสัปทานในปี 65-66 ในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ก็คาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณสำรองให้ขึ้นมาอยู่ในระดับ 7 ปีได้
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างทำดีลการซื้อกิจการ (M&A) ในภูมิภาค อย่างเมียนมา มาเลเซีย โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้ายังจะมีความคืบหน้าที่เป็นข่าวดีในธุรกิจโรงไฟฟ้า (Gas to Power) ในเมียนมา ซึ่งบริษัทจะมีโอกาสขยายกำลังการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งผลิตเดิมที่มีอยู่ และต่อท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งก๊าซฯไปใช้ผลิตไฟฟ้า โดยการดำเนินงานในส่วนธุรกิจไฟฟ้าก็จะเป็นความร่วมมือกับGPSC –สำนักข่าวไทย