สำนักข่าวไทย 29 ม.ค.- เพจ ไบโอไทย ระบุการใช้ ม.44 เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาแนวปฎิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้เป็นการยกคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาโดยตรง
โดยเพจ ไบโอไทย ได้สรุปความหมายของคำสั่ง คสช.ครั้งนี้ว่า
1) ไม่ได้เป็นการยกคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาโดยตรง แต่เป็นการแก้ปัญหาแนวการปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นอุปสรรคเป็นสำคัญ
2) ทำให้ชัดเจนว่า ในขณะที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับปรับปรุงแก้ไขยังไม่บังคับใช้ กัญชา และสิ่งที่มีสารสกัดกัญชาเป็นองค์ประกอบ เกลือ อีเทอร์ หรือเอสเทอร์ ของสารสกัดกัญชาถือว่าขัดต่อ มาตรา 9(5) กฎหมายไทยไม่ให้การคุ้มครอง (กรณีเดียวกับบราซิล)
3) กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ประกาศโฆษณาแล้วได้ โดยไม่ต้องรอ 5 ปีให้ผู้ยื่นคำขอยื่นให้มีการตรวจสอบการประดิษฐ์ก่อน
4) เมื่อ พ.ร.บ.ฯมีผลบังคับใช้แล้ว จะไม่สามารถใช้มาตรา 9(5) เป็นเงื่อนไขปฏิเสธคำขอได้อีก บริษัทต่างๆสามารถยื่นคำขอได้ใหม่ แต่ต้องไม่ใช่คำขอเดิมที่ขาดความใหม่แล้ว ต้องเป็นการประดิษฐ์ใหม่ หรือจับเอามาแต่งตัวให้ดูเป็นคำขอใหม่หลอกกรมทรัพย์สินฯ
5) คำสั่งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาหมักหมมของกระบวนการขอสิทธิบัตรซึ่งมีแนวโน้มเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบริษัทยามากกว่าผลประโยชน์ของสาธารณะแต่ประการใด ตัวอย่างเช่น ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรในประเด็น สารสกัดจากพืช 9(1) หรือ สิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรค 9(4) จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป เช่น เดียวกับ กรณีที่ไม่ได้ระบุให้คำขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
สรุปคือ เป็นการใช้ ม.44 เพื่อแก้ปัญหาแนวปฎิบัติของกรมฯ ซึ่งที่จริงแล้วกรมฯสามารถดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมได้อยู่แล้วทั้งสิ้น แต่กลับไม่ยอมดำเนินการ อ้างว่ากลัวขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ (ซึ่งไม่จริง) และขัดกับแนวปฏิบัติเดิมของตน(ข้อนี้จริง) ซึ่งข้อหลังนี้เป็นความบกพร่องของกรมฯล้วนๆ
ม.44 ทำให้กรมฯสามารถโยนความเสี่ยงและปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นให้กับ คสช.นั่นเอง
ลิงค์คำสั่งในราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/025/T_0092.PDF… .-สำนักข่าวไทย