กรุงเทพฯ 28 ม.ค. – จากเหตุการณ์สุนัขจรจัดรุมกัดเด็กอายุ 7 ขวบ ที่ จ.พังงา ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตและพุ่งเป้าไปยัง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์ ใครทำร้ายมีความผิดทางอาญา แล้วถ้าคนถูกทำร้ายร่างกาย ใครเป็นผู้รับผิดชอบ
บาดแผลฉกรรจ์ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้านับร้อยแห่งทั่วตัวของเด็กชายวัยเพียง 7 ขวบ หลังถูกสุนัขจรจัดรุมกัด จนอาการสาหัส ทำให้มีการหยิบยกประเด็นตัวบทกฎหมายของ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ที่ปกป้องสัตว์ แต่ไม่ปกป้องมนุษย์
เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เผยมาตรา 26 ระบุชัดกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามความเหมาะสม เพราะฉะนั้น หากเกิดเหตุสุนัขจรจัดไล่กัดคน เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมาบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด
สำหรับกระแสการจับ กัก ขังสุนัข ที่ดูเหมือนเป็นการทารุณกรรมสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ หรือสัตวแพทย์ ลงพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยทั้งคนและสัตว์ วอนทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎหมาย
ส่วนกรณีผู้มีจิตเมตตารักสุนัข ประกาศรับบริจาคผ่านโลกโซเชียล ขอรับเงินช่วยเหลือสุนัขและแมว เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นควรลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่ทีมข่าวลงพื้นที่ย่านภาษีเจริญ พบเจ้าของที่ดูแลสัตว์มากกว่า 400 ตัว เล่าว่า รับเลี้ยงสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งมานานกว่า 10 ปี ยอมรับมีสุนัขบางตัวไปกัดคน แต่ตนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
การแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดไล่กัดเด็ก นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังแล้ว ทุกภาคส่วนควรมีมาตรการดูแลสัตว์จรจัดร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดทำฐานทะเบียนสุนัขชุมชน เพื่อควบคุมดูแลสัตว์แต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม หรือจะปล่อยให้เด็กถูกสุนัขกัด ทิ้งบาดแผลในใจนับครั้งไม่ถ้วน. – สำนักข่าวไทย