กรุงเทพฯ 24 ม.ค.- รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันหลัง กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง นักการเมืองหาเสียงได้เต็มที่ ขณะที่ต่างชาติยินดีที่ไทยจะมีการเลือกตั้งในอีก 59 วัน ติดตามในคอลัมน์ “ศึกเลือกตั้ง 62”
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ยินดีกับการประกาศการเลือกตั้งของไทย ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 และหวังจะได้เห็นผลลัพธ์ที่สะท้อนถึงการอภิปรายอย่างเสรี และความต้องการของประชาชนชาวไทย รวมทั้ง ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสานต่องานที่มุ่งไปสู่เป้าหมายด้านสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทยและภูมิภาค
เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ระบุว่าการกำหนดวันเลือกตั้งของไทย เป็นก้าวสำคัญของการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย และตั้งตารอที่จะได้เห็นการรณรงค์หาเสียงเป็นไปอย่างเปิดกว้างและสงบเรียบร้อย โดยเสรีภาพของการแสดงออกจำเป็นต่อกระบวนการทางประชาธิปไตย
วันนี้ พรรคพลังประชารัฐแถลงเปิด 3 พันธกิจ 7 : 7 : 7 นโยบายสำหรับใช้ในการหาเสียง ขณะที่การลาออกของ 4 รัฐมนตรี จะมีความชัดเจนสัปดาห์หน้า
วันนี้ ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐคึกคักไปด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต และตัวแทนพรรคจากภาคทุกภาค เพราะมีการแถลงนโยบายพรรค เปิด 3 พันธกิจ 7 : 7 : 7 นโยบาย คือ 3 พันธกิจประชารัฐ เพื่อสร้างชาติให้ยั่งยืน ประกอบด้วย 1.สวัสดิการประชารัฐ 2.สังคมประชารัฐ และ 3.เศรษฐกิจประชารัฐ แต่ละพันธกิจจะมี 7 นโยบายสนับสนุน โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค เป็นคนแถลง ขาดนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ที่ติดภารกิจ ไม่สามารถมาร่วมแถลงนโยบายได้
ส่วนการลาออกจากตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรี นายอุตตม ขอย้ำคำเดิมว่า รอเวลาที่เหมาะสมก่อน และสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน ทั้งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี การเปิดตัว ส.ส.ทั้ง 350 เขต และการลาออกของ 4 รัฐมนตรี
ขณะที่พรรคเพื่อไทยแถลงการณ์แสดงความยินดีที่คนไทยจะมีโอกาสกำหนดอนาคต ด้วยการเลือกผู้แทนเข้ามาบริหารประเทศ พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายทำให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม และเตรียมเรียกประชุมว่าที่ผู้สมัครของพรรคทั่วประเทศ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การหาเสียง และชี้แจงข้อกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันที่ 28 มกราคมนี้
ด้านรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันแม้จะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปแล้ว รัฐบาลยังคงมีอำนาจเต็ม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า นับตั้งแต่วันที่มีมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป นักการเมืองสามารถหาเสียงได้เต็มที่ ตามระเบียบที่ กกต.กำหนด และการคิดค่าใช้จ่ายก็เริ่มทันทีเช่นกัน ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล ก็ยังเป็นไปตามปกติ และมีอำนาจเต็ม ซึ่งยังมีอีกหลายงานที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เช่นเดียวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็ยังสามารถใช้ได้ตามรัฐธรรมนูญ
มาดูมุมมองทางด้านเศรษฐกิจกันบ้าง ในช่วงที่มีหาเสียงเลือกตั้ง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดจะมีเม็ดเงินสะพัด 30,000-50,000 ล้านบาท
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่าการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ส่งผลดีกับการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ กิจกรรมในช่วงเลือกตั้งยังส่งเสริมให้บรรยากาศเศรษฐกิจในประเทศให้คึกคัก คาดจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท และจะส่งผลกระตุ้นจีดีพีของประเทศขยายตัวประมาณร้อยละ 0.2-0.3
ด้าน นายปวิณ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) มองว่า การเลือกตั้งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังจากรัฐบาลใหม่คือความต่อเนื่องในการทำงาน
วันนี้ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้เร่งกำหนดจุดติดตั้งป้ายหาเสียง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นถ่วงเวลาหรือไม่ ขณะที่ผู้อำนวยการ กกต.ประจำ กทม. คาดสัปดาห์หน้ามีความชัดเจน
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังมีพระราชกฤษฏีกาเลือกตั้งได้ให้ทีมงานไปติดตั้งป้ายหาเสียง แต่กรุงเทพมหานครได้ประสานให้ทีมงานปลดป้ายออกก่อน ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ กทม.เร่งออกประกาศด้วย เพราะ กกต.กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการติดป้ายหาเสียงตั้งแต่วันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา และมอบหมายให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ประกาศจุดติดตั้งป้าย แต่จนถึงขณะนี้ กทม.ยังไม่ประกาศออกมา ถือว่าเป็นการทำงานที่ผิดปกติ ทั้งยังเป็นถ่วงการทำงานพรรคการเมืองให้ยากลำบาก
และจากที่ผู้สื่อข่าวตระเวนดูในพื้นที่ กทม.ตั้งแต่ช่วงเช้า พบว่ามีเพียงบริเวณถนนลาดพร้าวตลอดทั้งเส้น ที่พบป้ายแนะนำตัวของ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 8 ของพรรคเพื่อไทย ติดตั้งไว้ทุกปากซอยทั้ง 2 ฝั่งของถนนลาดพร้าว เท่านั้น ไม่มีของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.คนอื่น รวมทั้งของนายอรรถวิชช์ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทราบว่า ร.ท.หญิง สุณิสา ได้ให้ทีมงานปลดป้ายหาเสียงแล้ว
ขณะที่ น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการ กกต.ประจำ กทม. เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบป้ายหาเสียง ยังพบป้ายของหลายพรรคการเมืองติดอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ จึงขอความร่วมมือว่าที่ผู้สมัครให้ปลดป้ายออกภายใน 5 วัน ถ้าไม่ดำเนินการ สำนักงานเขตจะเก็บป้ายและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ส่วนสถานที่ติดป้ายหาเสียง คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนแน่นอน
เมื่อวานนี้ ประธาน กกต.ออกมาเตือนพรรคการเมือง อย่ารีบติดป้ายหาเสียงตอนนี้ แม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว เพราะจะผิดกฎหมาย ที่ กกต.ต้องออกมาเตือน เพราะในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 มาตรา 83 ระบุว่า พรรคการเมือง ผู้สมัคร ที่จะติดตั้งป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะต้องอยู่ในสถานที่ที่ กกต.กำหนด รวมถึงจำนวนและขนาดของป้ายด้วย
โดยป้ายหาเสียงครั้งนี้จะมี 2 ส่วน คือ กกต.จัดทำให้ผู้สมัครแต่ละพรรคอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมกำหนดสถานที่ และขนาดจะเป็น A3 อีกส่วนคือ ผู้สมัคร และพรรคการมืองจัดทำเองได้ โดยผู้สมัคร ส.ส.เขต จะติดตั้งป้ายได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งแต่ละเขต แต่สถานที่ติดตั้ง กกต.จะเป็นผู้กำหนด และพรรคการเมืองติดตั้งได้ที่ที่ทำการพรรค หรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งละ 1 แห่ง ต่อ 1 ป้าย
ขณะที่ป้ายหาเสียงจะมีแค่รูปถ่ายผู้สมัคร นโยบาย คำขวัญ ภาพผู้สมัคร หัวหน้าพรรค ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรค จะมีรูปบุคคลนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคไม่ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งแพ่ง-อาญา.-สำนักข่าวไทย