ดินแดง 24 ม.ค.-รมว.แรงงาน ถกข้อเรียกร้องประมง ประเด็นใช้แรงงานเด็ก อายุ 16 ปี ขึ้นไปและยกเลิกจ่ายเงินผ่านธนาคารยังไม่อนุมัติ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง พ.ศ.2550 ว่า การข้อเรียกร้องของชาวประมงที่ได้มีการยื่นเสนอมาก่อนหน้านี้ ที่ประชุมได้อนุมัติเห็นชอบแล้ว 11 ข้อ อาทิ เปิดโอกาสให้ซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับประกันของภาคเอกชน ทดแทนการเข้าอยู่ในระบบของประกันสังคมได้ ขณะที่การต่อเติมเรือต้องมีห้องพัก ห้องน้ำ ห้องสันทนาการต่างๆ นั้นไม่มีผลกับเรือประมงเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จะบังคับใช้กับเรือใหม่ ขนาด 300 ตันกรอสขึ้นไป และเรือที่จะขยายเป็น 300 ตันกรอส และลดเวลาการนำเข้าแรงงาน MOU จาก 24 วันเป็น 14 วัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง รวมถึงกฎเกณฑ์การนับชั่วโมงการพักที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานบนเรือ จากเดิมที่ต้องติดกัน 10 ชั่วโมง เป็นนับเสลาพักช่วงใดก็ได้ให้รวมกันได้ 10 ชั่วโมง เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่ประชุม ยังไม่อนุมัติและต้องให้มีการพิจารณาอีกรอบคือ การเปิดโอกาสใช้เเรงเด็ก อายุ 16 ขึ้นไป ซึ่งจามอนุสัญญา ระบุว่าทำได้ แต่ในกฎหมายของเราห้าม ซึ่งหากเห็นชอบเกรงว่าอาจเข้าข่ายใช้แรงงานบังคับ รวมถึงประเด็น การยกเลิกจ่ายเงินเดือน ผ่านระบบธนาคาร เนื่องจากนายจ้างลำบาก ลูกจ้างบนเรือส่วนใหญ่รับเงินสดด้วย
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อว่า ชาวประมงไม่เข้าใจในตัวกฎหมายอนุสัญญา ซี 188 เป็นอย่างมาก เพราะต่างกังวลใจกับตัวกฎหมาย ซึ่งจากการประชุมและการเผยแพร่ข้อมูล ทำให้ชาวประมงเข้าใจดีขึ้น คลายกังวลใจ แต่ส่วนที่ยังไม่ตกผลึก อย่างอายุแรงงานที่จะเปิดโอกาสให้เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปทำงานได้ตามเดิมกำหนดไว้ที่ 18 ปีนั้น ชาวประมงมองว่าจะเอาลูกเอาหลานไปฝึกงานเรียนรู้งานสานต่ออาชีพประมง ซึ่งต้องติดต่ามกันต่อไป
ส่วนในเรื่องการจ่ายเงินเดือน ในอนุสัญญาไม่ได้ระบุไว้ว่าจ่ายเงินอย่างไร เพียงแต่บอกว่า จ่ายทุกเดือน ซึ่งของไทยเรามีกฎหมายว่าต้องจ่ายผ่านธนาคาร เกินหน้าอนุสัญญาไปแล้ว หลายมาตรา ดังนั้น ชาวประมงจึงเรียกร้องให้กระทรวงทบทวนตัวบทกฎหมายที่ไปไกลกว่าอนุสัญญา เพื่อให้ปฏิบัติใช้ได้จริง ให้เป็นตามข้อเท็จ เพราะการให้แรงงานนั่งรถจักรยานยนต์ ไปเบิกเงิน 300-400 ร้อย ค่ารถก็หมดแล้ว ไม่คุ้มกัน เป็นความยากลำบาก ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งไม่ควรเป็นภาระของชาวประมงจึงอยากให้มีการปรับแก้ รวมถึงกฎหมายที่มีการซ้ำซ้อนด้วย .-สำนักข่าวไทย