กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – กระทรวงดีอีเร่งผลักดัน 5 มาตรการดิจิทัลอาเซียน เชื่อมโยงชาติสมาชิกเป็นหนึ่งเดียว พร้อมเสนอตั้ง “บิ๊กดาต้าอาเซี่ยน” เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลใช้ขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและอื่น ๆ ร่วมกันต่อไป
ในการสัมมนนาสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย (ASEAN BAC) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้จะร่วมกันผลักดันแนวคิดตามที่รัฐมนตรีอาเซียนเห็นชอบ 5 ด้าน ได้แก่ เชื่อมโยงอาเซียนด้วยดิจิทัล การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนโดยการผลักดันอี-คอมเมิร์ซและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม
นายพิเชษฐ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีจะเป็นพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเตรียมพื้นที่ดิจิทัลปาร์คไทยแลนด์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 800 ไร่ไว้รองรับ โดยขณะนี้เริ่มก่อสร้างอาคารแรกเนื้อที่ 80,000 ตารางเมตร เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยี IoT และ AI โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนสร้างสมาร์ทซิตี้ สร้างแพลทฟอร์มด้านดิจิทัล ส่งเสริมการลงทุนด้านแอนนิเมชั่น การออกแบบที่ทันสมัย นอกจากนี้ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ซึ่งห่างจากดิจิทัลปาร์คไทยแลนด์ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ได้เตรียมพื้นที่ 199 ไร่ เพื่อสร้างอาคารเรียนสอน 5 คณะวิชาที่เกี่ยวข้อง พื้นที่บางส่วนเตรียมไว้รองรับการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ขณะนี้มีการทยอยนำอุปกรณ์เข้ามาติดตั้งแล้ว รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย
“ดิจิทัลปาร์คไทยแลนด์จะช่วยเสริมศักยภาพของอีอีซี ที่เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือลึกมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รวมถึงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเกิดการเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัลที่ทันสมัยและเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในพื้นที่อีอีซีและยังเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมโยงอีอีซีกับทุกภูมิภาคทั่วโลก” นายพิเชษฐ กล่าว
นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เปิดเผยว่า ภาคเอกชนจะเร่งดำเนินการที่สอดรับกับนโยบายของภาครัฐ เพื่อยกระดับอาเซียนไปสู่ยุค 4.0 ภายใต้ 4 เสาหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การเชื่อมโยงชาติสมาชิกผ่านเครือข่ายดิจิทัล การพัฒนายกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและยังเป็นการช่วยลดการตกงานในอนาคตเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งผลิตแรงงานรองรับงานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้พัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล
“การพัฒนาเอสเอ็มอีเป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยจะต้องเร่งยกระดับมาตรฐานเอสเอ็มอีด้านนี้ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นกระดูกสันหลังของทุกประเทศ หากยกระดับสู่ยุค 4.0 ได้ก็จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างก้าวกระโดด” นายอรินทร์ กล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า ภาคเอกชนจะต้องหาแนวทางใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างแน่นแฟ้น ขณะเดียวกันผลักดันให้รัฐบาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ เพื่อเชื่อมต่อภาคธุรกิจไทยสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ จะต้องทำให้อาเซียนเกิดการติดต่อเชื่อมโยงข้อมูลการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้าของอาเซียน ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของชาติสมาชิกอาเซียนมาก่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในภาพรวมของกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน
“เรื่องของโครงการจัดตั้งบิ๊กดาต้าอาเซียน ขณะนี้เป็นแนวคิดที่ชาติสมาชิกทุกประเทศจะต้องช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพื่อแต่ละประเทศจะได้นำข้อมูลบิ๊กดาต้าไปวิเคราะห์ต่อยอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ต่อไป” นายกลินท์ กล่าว
นายกลินท์ กล่าวว่า ภายหลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ควรสานต่อโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน 75,000 หมู่บ้านที่ได้เริ่มต้นเอาไว้แล้วต่อไป โดยต่อยอดให้เกิดประชาชนทั่วประเทศได้ใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเต็มที่ต่อไป.-สำนักข่าวไทย