อสมท 19 ม.ค.-เวทีสัมมนา “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” นักวิชาการมองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่สอดคล้องสภาพความเป็นจริง อยากเห็นนักการเมืองมีวิสัยทัศน์รับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งสำคัญของการพัฒนาประเทศคือคน ไม่ใช่กฎหมาย
นักศักษาหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.)จัดการสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” ที่อาคารปฎิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บมจ. อสมท จำกัด มหาชน โดยมีนายจรัส สุวรรณมาลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV และน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมเสวนา
นางอัญชนา ณ ระนอง ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นประชาชน “นิด้าโพล” นำเสนอผลสำรวจความคาดหวังของคนไทยหลังการเลือกตั้ง ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาและเกษตกรรมพบว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่หวังจะได้หลังการเลือกตั้งคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีนักการเมืองที่เสียสละเพื่อประชาชนและมีคุณธรรม การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เลือกปฎิบัติ สินค้าการเกษตรมีราคาสูงขึ้นและกระจายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค
ขณะที่ผู้ร่วมสัมมนาทั้งหมดมองว่าหลังการเลือกตั้งประชาชนไม่สามารถฝากความหวังไว้กับนักการเมืองได้ แต่สิ่งที่จะทำให้อยู่รอดในยุคที่การเปลี่ยนแปลงและแข่งขันสูง คือการศึกษาข้อมูลพัฒนา ปรับเปลี่ยนและพึ่งพาตัวเอง เพราะจากผลการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพลพบว่าสิ่งที่ประชาชนคาดหวังหลังการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่สะท้อนว่าประเทศไทยอยู่ในระดับของประเทศที่กำลังพัฒนา ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่บางประเทศก้าวพ้นความต้องการลักษณะนี้ไปแล้ว
นายเจษฎ์ กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาการปฎิรูปยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการเเข่งขันระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้นักการเมืองจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ มีมุมมองที่เตรียมการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบกับคนไทย และการพัฒนาของประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้หากหวังพึ่งกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างอยู่ที่คนทั้งสิ้น การที่ทุกพรรคบอกว่าต้องการพลังคนรุ่นใหม่ ต้องการการเมืองแบบใหม่ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ทำอยู่ไม่สามารถก้าวพ้นการเมืองเดิม ๆ ได้
นายสมชาย กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนยังฝากความหวัง และในอนาคตสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีการใช้สมองกลหรือ AI มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาแทนที่การทำงานของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะต้องเตรียมการป้องกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อโลกกว้างไปกว่าการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในขณะที่ไทยยังอยู่กับที่ด้วย
นายวรชาติ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลหน้าควรจะมีคือแผนหรือยุทธศาสตร์แข่งขันด้านการตลาดสำหรับสินค้าการเกษตร เพื่อไม่ทำให้ไทยติดกับดักของกฎหมาย โดยเฉพาะข้อกำหนดของกรอบการค้าระหว่างประเทศ เรื่องการค้าเสรีที่ต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้า และการเติบโตของภาคการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านที่แซงหน้าประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพและปริมาณการส่งออกข้าว ยางพารา เมล็ดพริกไทย และมันสำปะหลัง รวมถึงการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งสินค้ากับประเทศผู้ซื้อ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังมีแผนงานที่ไม่สอดคล้องกับการแข่งขัน
“เวียดนามและกัมพูชาส่งออกข้าว มันสำประหลัง กาแฟ แซงหน้าไทยไปแล้ว มีข่าวว่าประเทศเหล่านี้ก็เร่งปลูกทุเรียนหมอนทองด้วย เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาด จะไม่มีใครรู้เลยว่าหมอนทองเหล่านี้มาจากประเทศไหน ซึ่งน่าเป็นห่วง ส่วนเส้นทางขายของตอนนี้ เมียนมาถือว่าได้เปรียบมากเพราะติดทะเล ติดประเทศอินเดียและจีน ขณะที่ลาวกำลังมีรถไฟเชื่อมโยงกับจีนเพื่อระบายสินค้าการเกษตร ไม่มีใครมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนหรือใช้แหลมฉบังอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ยุทธศาตร์ต้องเปลี่ยน และต้องหาทางเตรียมการรับมือ ”นายวรชาติกล่าว.- สำนักข่าวไทย
