กทม. 18 ม.ค.-หนึ่งในข้อเสนอการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน คือ การให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ที่ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ เช่น การปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยกรองฝุ่น และช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศ
ไม้ยืนต้นอย่างต้นจามจุรี ต้นนนทรี ต้นมะขาม และต้นหางนกยูง คือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เหมาะจะปลูกข้างถนน เพราะมีข้อมูลงานวิจัยที่ระบุว่าต้นไม้เหล่านี้ช่วยกรองอากาศ ดักจับฝุ่นขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ไมครอนได้ แต่จะดักจับฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่ ยังไม่มีงานวิจัยระบุชี้ชัด
ไม้ประดับ เช่น ต้นวาสนา หมากเหลือง เบญจมาศ และปาล์มไผ่ ก็มีคุณสมบัติฟอกอากาศได้เช่นกัน โดยต้นไม้จะดูดสารพิษด้วยกรรมวิธีการคายน้ำลงสู่ดิน และเปลี่ยนเป็นอาหารของพวกมัน
การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับมลพิษ คือหนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ที่ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เสนอให้ดำเนินการควบคู่กับการลดมลพิษที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5
ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์ และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่สวนสาธารณะของ กทม. มีกว่า 7,000 แห่ง และคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 20,000 กว่าไร่ ซึ่งเพิ่มจาก 2 ปีก่อน เกือบ 2,000 ไร่
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีความพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ตารางเมตรต่อคน แต่นี่ก็ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
องค์การอนามัยโลกมีการกำหนดอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ ว่าควรจะอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน โดยข้อมูล
จากกรุงเทพมหานคร ล่าสุดพบสัดส่วนพื้นที่สีเขียวของ กทม. ในรูปแบบสวนสาธารณะที่มีกว่า 20,000 ไร่ แต่ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่าพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ใน กทม. ยังไม่เพียงพอที่จะดูดซับมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ปีที่แล้ว กทม. ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวกว่า 220 ไร่ และมีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ทุกปี แต่อุปสรรคสำคัญคือ หาพื้นที่ในการทำเป็นสวนสาธารณะใหม่ๆ ยากขึ้น เพราะพื้นที่บางส่วนเป็นของเอกชน ทำให้หน่วยงานที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเสนอ กทม. ให้ใช้วิธีการเช่าพื้นที่ของเอกชนมาทำเป็นพื้นที่สีเขียว หรือเรียกว่าการเช่าปอดให้คนกรุงเทพฯ รวมถึงให้ประชาชนมีส่วนในการสร้างพื้นที่สีเขียวในบ้านของตัวเอง แต่ทั้งนี้การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับมลพิษทางอากาศยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะต้นเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษส่วนใหญ่ยังไม่ถูกแก้ไข.-สำนักข่าวไทย