ทำเนียบฯ 17 ม.ค. – คนร. สั่ง ขสมก.ทบทวนแผนขยับค่าโดยสาร 21 ม.ค. นี้ คุมเข้มเบี้ยประชุมบอร์ดรัฐวิสากิจ 1 ครั้งต่อเดือน เห็นชอบไอแบงก์พ้นจากแผนฟื้นฟู
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบแผนงานในปี 2562 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้สั่งให้บอร์ด ขสมก. คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ทบทวนแผนปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์สาธารณะของ ขสมก. หลังจากระยะแรก รถโดยสารธรรมดา (รถเมล์ร้อน) ปรับขึ้น 1.50 บาท เป็น 8 บาท จากปัจจุบันเก็บราคา 6.50 บาท เตรียมเพิ่มตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2562 – 20 ม.ค. 2563 จากนั้นจะปรับขึ้นอีก 2 บาท เพิ่มเป็น 10 บาท จึงต้องการพิจารณาให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน
หลังจาก ขสมก. รับมอบรถโดยสาร NGV มาแล้ว จำนวน 300 คัน คาดว่าจะรับมอบส่วนที่เหลือ 189 คัน ได้ภายในเดือนมีนาคม 2562 เพื่อสามารถจัดหารถครบ 3,000 คัน ได้ภายในปี 2565 และยังต้องติดตั้งระบบ GPS ในรถที่มีอยู่ในปัจจุบันครบถ้วนแล้ว เมื่อได้รถใหม่เข้ามาใช้บริการแล้ว อีกทั้งยังกำชับให้รถเมล์ธรรมดา เน้นการนำน้ำมัน B20 มาใช้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองจากคราบน้ำมันถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศในเขตกรุงเทพฯ คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทุกคันในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ แต่ยังคงมีความล่าช้าในการติดตั้งระบบ E-Ticket โดย ขสมก. ได้นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้กระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำชับแผนการลงทุน การบริหารทรัพย์สิน และการจัดตั้งบริษัทลูกในการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงและการบริหารทรัพย์สิน เพื่อเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างทางคู่และทางสายใหม่ทั้งหมดให้ได้ภายในปีนี้ และให้มีการนำเชื้อเพลิง B20 มาใช้ด้วย เพื่อลดปัญหามลภาวะละอองฝุ่น
คนร. ยังเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงอัตราและหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับประเภทและกิจการของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ คนร. มีข้อสังเกต ให้พิจารณาหลักการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับลักษณะและผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่มประเภทเดียวกัน จึงต้องคำนึงถึงผลประกอบการ ขนาดทรัพย์สิน จำนวนพนักงาน กำหนดจ่ายเบี้ยประชุม 1 ครั้งต่อเดือน สำหรับรัฐวิสาหกิจใดอยู่ในแผนฟื้นฟูหรือมีปัญหาต้องประชุมหลายครั้งต่อเดือน กำหนดให้รับเบี้ยประชุม 2 ครั้งต่องเดือน
ที่ประชุม คนร. ยังเห็นชอบให้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากผลดำเนินงานฐานะทางการเงินไอแบงก์ มีความแข็งแกร่งแล้ว หลังจากกระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2561 และผลประกอบการของ ธอท. มีกำไร 500 ล้านบาท สูงกว่าแผนงานกำหนดไว้ ให้เดินหน้าปล่อยสินเชื่อในปี 62 วงเงิน 12,000 ล้านบาท แต่ยังมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Finance : NPF) สูงกว่าแผนเล็กน้อย มอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแล ธอท. ให้สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไป . – สำนักข่าวไทย