กรุงเทพฯ 12 มี.ค.-นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ปัญหาประมง จนอียู ปลดใบเหลืองไอยูยู ย้ำดูแลต่อเนื่องโดยเฉพาะแรงงานประมงผิดกฏหมายทั้งนอกและในน่านน้ำไทย และจะยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ภาคประมง ในเดือนนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วานนี้ ( 11 ม.ค.)ถึง กรณีคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและประมง ได้ประกาศแถลงการณ์ปลดใบเหลืองประมง IUU ของประเทศไทยแล้ว ถือเป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา นับตั้งแต่เมื่อปี 2558 เป็นต้นมา ทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU จนเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ EU ยกให้ไทยเป็น “ผู้นำของอาเซียน” ในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU โดยจะมีการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคของอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว “ร่วมกัน” ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรป เรื่องการต่อต้านการทำประมง IUU เพื่อจะเป็นกลไกร่วมมือในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ ประเทศไทยในฐานะ“ประธานอาเซียน” สามารถแสดงบทบาทสำคัญ ในการนำพาประเทศเพื่อนบ้านของไทย เข้าสู่ “การปฏิรูปภาคการประมง” ในลักษณะเดียวกัน โดยผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน ให้มีผลเป็นรูปธรรมพร้อมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ASEAN IUU Task Force สำหรับเป็นกลไกการป้องกันการทำประมง IUU ของภูมิภาค อีกด้วยนะครับ
สำหรับการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมง รัฐบาลไทย ให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงIUU มาโดยตลอด และได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในหลายด้าน เพื่อคุ้มครองแรงงานในภาคประมง จนกล่าวได้ว่า ขณะนี้สถานการณ์แรงงานในภาคประมงของไทย“ดีขึ้น” กว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วมาก สะท้อนได้จากรายงาน ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เกี่ยวข้อง โดยไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้ยื่นสัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ว่าด้วยแรงงานบังคับ เมื่อปีที่ผ่านมา และจะยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ซึ่งจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยได้ปฏิรูปภาคประมง จนเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างสิ้นเชิงแล้วจากในอดีต ได้ก้าวข้ามความท้าทาย มาถึงจุดที่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ อันดับ 4 ของโลก ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “สมุทราภิบาลโลก” แล้ว และพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบกับประชาคมโลก ในการรักษาทรัพยากรทางทะเล และการทำประมงตามหลักสากล งาน สิ่งที่ยังต้องดำเนินการจากนี้ไป คือเดินหน้าในเรื่องการบริหารจัดการประมง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กในภาคประมง โดยยังปรากฏรายงานว่า มีคนไทย-เรือประมงไทย เข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในต่างประเทศ โดยเฉพาะน่านน้ำประเทศแถบทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะชักธงชาติไทย หรือธงต่างชาติ หากมีพฤติกรรมการทำประมงผิดกฎหมาย หรือการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายอยู่ รัฐบาลก็ไม่อาจละเลยที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจาก การแสวงผลประโยชน์ส่วนบุคคล กลับทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ของชาวโลก ต่อสินค้าประมงไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมงไทย ประมงพาณิชย์ และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ในภาพรวม และท้ายนี้ต้อง ขอขอบคุณชาวประมงของประเทศไทยทั้งหมดทุกคนที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา. – สำนักข่าวไทย