ทำเนียบรัฐบาล 14 มิ.ย.-ครม.เห็นชอบร่างประกาศ 2 ฉบับ หนุนแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงทางทะเล
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างประกาศ 2 ฉบับ ประกอบด้วยร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ…..และร่างประกาศกระทรวงมหาไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม สามารถมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่….. พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
“ประกาศทั้ง 2 ฉบับจะเป็นกฎหมายที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทางทะเล ที่แม้ในระยะที่ผ่านมากรมประมงได้แก้ไขตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มา 3 ครั้ง มีคนต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนและผ่านการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งสิ้น 14,806 คน และต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ 1,818 คน โดยทยอยหมดอายุตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ย. 2565 แต่แรงงานยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้แรงงานของผู้ประกอบการด้านประมง จึงต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติม” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมวงทางทะเลตามมติของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว(คบต.) โดยมีผลให้ดำเนินการตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน ตามห้วงเวลา ดังนี้ 1) ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. และ 2) ระหว่างวันที่ 1 ก.ย. -30 พ.ย. โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุและมีรอยตราประทับตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า หรือคนต่างด้าวที่เคยได้รับหนังสือประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออกเอกสารคนประจำเรือ สามารถยื่นขอรับหนังสือคนประจำเรือ เพื่อทำงานในเรือประมงได้ไม่เกิน 2 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือตามมาตรา 83 ให้ถือว่าเป็นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว
“สำหรับการดำเนินการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวเพื่อทำงานในกิจการประมงทางทะเล และการออกหนังสือคนประจำเรือนี้จะมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อการดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง กระทรวงสาธารณศุข กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย