fbpx

เร่งสร้างถนนยางพารา ก.พ.นี้ทั่วประเทศ

กรุงเทพฯ 11 ม.ค. –  ก.เกษตรฯ เดินหน้าโครงการถนนยางพารา เร่งสร้าง 80,000 หมู่บ้าน พร้อมกันทั่วประเทศ ก.พ.นี้ หลัง อปท.เปิดสมัยประชุมสภาท้องถิ่นเพื่ออนุมัติงบประมาณก่อสร้าง คาดจะผลักดันราคายางพาราสูงขึ้นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท  


นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดประชุมหารือการดำเนินโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  77 จังหวัด มารับทราบแบบ สูตรก่อสร้าง ราคากลาง การใช้งบประมาณในการสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา คาดว่าจะดำเนินก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วพร้อมกันทั่วประเทศต้นเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้บริหาร อบจ.ต้องเสนอสภา อบจ.อนุมัติงบประมาณ ซึ่งสภา อบจ.ส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศจะเปิดสมัยประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนระยะทางที่จะก่อสร้างไม่จำเป็นต้องสร้างเพียง 1 กิโลเมตรต่อ 1  หมู่บ้าน/ชุมชน สามารถสร้างได้ตามงบประมาณที่มีและความจำเป็นในการปรับปรุงถนน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ อบจ. อยู่แล้ว  

ดังนั้น โครงการนี้นอกจากจะทำให้ได้ถนนในหมู่บ้านหรือระหว่างชุมชนมีคุณภาพดีกว่าถนนลูกรังที่ทำกันอยู่เดิม ซึ่งในช่วงหน้าแล้งผิวจราจรแห้งทำให้ฝุ่นคลุ้ง แต่เมื่อนำน้ำยางพาราสดกับปูนซีเมนต์ผสมเข้าไป แล้วบดอัด ทำให้ลดฝุ่น รวมทั้งยังมีความยืดหยุ่นและความทนทานกว่า จึงเป็นโครงการที่เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ ได้ถนนที่มีคุณภาพใช้สัญจรและขนส่งสินค้าการเกษตร และช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากหากสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งจะมีระยะทางรวมอย่างน้อย 75,032 กิโลเมตร ใช้น้ำยางสดปริมาณกว่า 1.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้นประมาณ 72,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าน้ำยางสดกว่า 16,000 ล้านบาท ขณะนี้ราคาน้ำยางสดปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกิโลกรัมละ 33 บาท เป็น 39 บาทแล้ว หากมีการใช้ในประเทศจำนวนมาก คาดว่าจะยกระดับราคายางอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม


นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเร่งส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีบทบาทรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดย ครม. อนุมัติวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ส่วนสหกรณ์รับภาระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ0.01 ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรแปรรูปยางสำหรับส่งออก รับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งคัดเลือกมา 18 สหกรณ์ มี 6 สหกรณ์ที่มีศักยภาพสูงทั้งรวบรวมผลผลิตยาง แปรรูป และส่งออกได้เอง ส่วนอีก 12 สหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำยางและแปรรูปได้ แล้วส่งให้ภาคเอกชนส่งออก ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายยางพาราไปยังต่างประเทศ 

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทาง กยท.กำลังจะเสนอให้คณะกรรมการ กยท.เห็นชอบการใช้แผ่นปูพื้นแบบต่าง ๆ เพื่อทำสนามฟุตซอล ลานกีฬา และทางเท้า สัปดาห์หน้า หากบอร์ด กยท.เห็นชอบจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ซึ่งผ่านการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก.แล้วไปจัดสร้าง โดยหน่วยงานที่ต้องการใช้สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที นอกจากนี้ กำลังศึกษาแนวทางการใช้ยางพาราขึ้นรูปเป็นแผ่นรองทางรถไฟ ทดแทนของเดิมที่ใช้อยู่ ซึ่งทำจากพลาสติก แม้พลาสติกจะถูกกว่า แต่ยางพารามีความยืดหยุ่นและคงทนกว่า ทำให้การเดินรถระบบรางมีความสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 – 2 เดือน หากมีความเหมาะสมจะนำเสนอรัฐบาลกำหนดให้เป็นมาตรฐานว่าจากนี้ไปแผ่นรองรางรถไฟที่จะจัดหามาใหม่หรือทดแทนของเดิมผู้รับว่าจ้างต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา 

“กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการมาตรการใช้ยางพาราภาครัฐทั้งหมดนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับราคายางพารา ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้มากขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว


ทางด้านนายธเนศ สุขโต ผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) บริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ช เปิดเผยว่า บริษัทพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์ “แผ่นรองรางรถไฟ” เพื่อรองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราไทย และสามารถชดเชยการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ เพราะมีคุณสมบัติการใช้งาน รวมถึงราคาใกล้เคียงกัน และได้รับมาตรฐาน มอก.2667-2558  สามารถนำมาใช้ในงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมรางรถไฟ หรือการเปลี่ยนยางเก่าที่เสื่อมสภาพได้ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 

สำหรับการพัฒนางานวิจัยแผ่นรองรางรถไฟได้ร่วมมือกับนักวิจัยในประเทศ ทั้งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เชื่อมั่นว่ามีโอกาสจะพัฒนาและขยายตลาดในประเทศได้อย่างดี แผ่นรองรางรถไฟมีรูปแบบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหน้าประมาณ 2-12 มิลลิเมตร ความยาวประมาณ 18 เซนติเมตร และความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร โดยต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาได้ มีน้ำหนักประมาณ 175 กรัม/ชิ้น

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าความต้องการใช้แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพาราในระบบราง ซึ่งในระยะทาง 1 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้แผ่นยางรองรางรถไฟประมาณ 3,300 ชิ้น และจะมีปริมาณการใช้ยาง ประมาณ 290 กิโลกรัม ปัจจุบันระบบรางระยะทางประมาณ 4,300 กิโลเมตร จึงจะมีปริมาณการใช้ยางพาราประมาณ 1,200 ตัน โดยอนาคตหากมีการขยายระบบรางในระยะทางประมาณ 8,400 กิโลเมตร จึงจะมีปริมาณการใช้ยางพาราประมาณ 2,400 ตัน ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศได้อย่างมาก.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

Made in Thailand แดนไทยเท่ : เสน่ห์ผ้าทอชาวเขา สู่แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของเชียงใหม่

ผ้าทอชาวเขาและเครื่องแต่งกายชนเผ่าต่างๆ ของไทยที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาไม่เหมือนใคร ทำให้ดีไซเนอร์ชาวเชียงใหม่ นำมาออกแบบตัดเย็บ กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่ทันสมัย

ศาลปกครองอุบลราชธานี ไม่รับฟ้องกรณีนักศึกษาไม่ได้รับเงิน

กรุงเทพฯ 3 พ.ค.-ศาลปกครองอุบลราชธานี ไม่รับฟ้อง กรณีนักศึกษา ไม่ได้รับเงิน ยืนยันโอนเงินให้เแล้ว 

พายุฤดูร้อนถล่ม 31 จังหวัด ฝนฟ้าคะนอง-ลมแรง

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 5 ฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง วันนี้ (3 พ.ค.) ได้รับผลกระทบ 31 จังหวัด ในภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง

ข่าวแนะนำ

“บิ๊กโจ๊ก” ร้องคัดค้านกรรมการสอบวินัยร้ายแรง 9 ใน 14 คน

รรท.ผบ.ตร. ยอมรับ “บิ๊กโจ๊ก” ร้องคัดค้านกรรมการสอบวินัยร้ายแรง 9 ใน 14 คน อ้างเป็นคู่ขัดแย้ง กำชับให้ผลตรวจสอบคุณสมบัติกรรมการเสร็จก่อนการสอบ “บิ๊กโจ๊ก”

กปน.-กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนรอบใหม่ 5-15 พ.ค.นี้

กปน.-กรมชลประทาน เตรียมแผนรับมือน้ำทะเลหนุนรอบใหม่วันที่ 5-15 พ.ค.นี้ หลังช่วงปลายเดือน เม.ย. ทำให้น้ำเค็มเกินมาตรฐาน ส่งผลให้น้ำประปาอาจมีรสชาติเปลี่ยนแปลงบ้าง มั่นใจทุกขั้นตอนผลิตน้ำประปาที่ต้นสถานีสูบน้ำดิบสำแลถึงผลิต 3 แห่ง น้ำประปามีคุณภาพสูง ขอให้ประชาชนสบายใจ และขอให้ตามข้อมูลคุณภาพน้ำสม่ำเสมอ

นายกฯ กราบนมัสการ “พระครูปลัดสุขวัฒน์” วัดท่าตะแบง จ.ร้อยเอ็ด

นายกฯ กราบนมัสการ “พระครูปลัดสุขวัฒน์” พระชื่อดังวัดท่าตะแบง จ.ร้อยเอ็ด รับปากแก้ไขปัญหายาเสพติด-น้ำท่วม พร้อมรับวัตถุมงคล รับพรให้สุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จ เป็นห่วงเดินทางเยอะ ขณะที่ประชาชน ทวงถามเงินหมื่น นายกฯ ย้ำ “ตั้งใจจะให้ รอสิ้นปี”

พายุถล่มสวนทุเรียน เจ้าของน้ำตาตกเงินล้านหายวับ

น้ำตาตกใน พายุฤดูร้อนถล่มสวนทุเรียน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ลูกรอเก็บร่วงนับสิบตัน เงินล้านหายวับไปกับตา