ดินแดง 11 ม.ค.-นักวิชาการเผยบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในกลุ่มเด็กเยาวชนทั่วโลก เนื่องจากมีรูปลักษณ์ทันสมัย เข้าถึงง่าย กระตุ้นทุกภาคส่วนเร่งรณรงค์สร้างความตระหนักรู้โทษภัยผ่านสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนต่อเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,647คน อายุระหว่าง 15-25ปี จากทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า ร้อยละ39 มีความเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้ ร้อยละ 28 จะเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อทราบอันตราย แต่ร้อยละ 14 ยังพร้อมจะสูบต่อ
ร้อยละ 76 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจากสื่อออนไลน์ และมีช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ถึงร้อยละ80 ผ่านตลาดนัดกลางคืน ร้อยละ39 และจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิดร้อยละ31 และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ16 เท่านั้น ที่สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่ถูกกฎหมาย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ หลายประเทศเพิ่งวางจำหน่ายได้ไม่กี่ปี แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีการระบาดในหมู่เยาวชนเป็นปัญหา ที่พบในเกือบทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายอย่างรวดเร็วมากเพราะสามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ทุกกลุ่มโดยอาศัยรูปลักษณ์ที่มีความทันสมัยและความเข้าใจผิดของเด็กว่าไม่มีโทษหรือไม่ก่อให้เกิดการเสพติดแบบบุหรี่ทั่วๆไป
โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันวัยรุ่นอเมริกา สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึง3.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น900เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา4ปี โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนมัธยมปลาย ที่ไม่เคยสูบมาก่อน นิยมสูบอย่างแพร่หลายรวดเร็ว ทั้งๆที่ความเป็นจริง บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนผสมหลักเป็นสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด มีผลทำอันตรายต่อสมองเยาวชนที่กำลังเจริญเติบโต ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย กระตุ้นหัวใจให้เต้นแรงขึ้นเกิดการเผาพลาญที่ผิดปกติและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง มีอยู่ในปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา เทียบ1มวนบุหรี่ไฟฟ้า มีปริมาณนิโคตินเท่าๆกับบุหรี่ธรรมดา20มวน หรือ 1ซอง จนล่าสุดศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐได้กำหนดให้การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของประเทศไปแล้ว
ในส่วนของประเทศไทยทุกภาคส่วนต้องมีการรณรงค์อย่างจริงจังเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้กับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่ายในปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย