สำนักข่าวไทย 8 มค .-สภาวิศวกร เตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนอาคารย่านรามคำแหง เข้าให้ข้อมูล คาด 3 เดือนรู้ผล โทษสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาต
เจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยทีมสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุอาคาร 3 ชั้น บริเวณปากซอยรามคำแหง 51/2 เขตบางกะปิ ที่ทรุดตัวลงมา ขณะกำลังรื้อถอน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บเมื่อวานนี้ (7ม.ค.) โดยมีผู้รับเหมาโครงการรื้อถอน เข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ใช้เวลาตรวจสอบร่วมกันเกือบชั่วโมง
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ผู้รับเหมาได้นำรถแบ็กโฮเข้ามารื้อถอน ขณะทำการรื้อถอนจากด้านในตัวระเบียงนั้น แผ่นปูนที่เป็นกำแพงผนังของชั้น 2 รับแรงกระแทกไม่ไหว จึงหลุดลงมากระแทกกับกันสาดด้านล่าง เป็นเหตุให้เกิดการถล่มลงมา จนมีผู้ได้รับบาดดังกล่าว ซึ่งระหว่างการรื้อถอนต้องห้ามคนเดินผ่านบริเวณทางเท้าหน้าอาคารเด็ดขาด ส่วนธนาคารออมสิน ที่ติดกับอาคารดังกล่าว ต้องตรวจสอบความมั่นคงของตัวอาคาร เพื่อความปลอดภัย
ด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท. กล่าวว่าอาคารดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ 40-50 ปี การดำเนินการรื้อถอนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของประชาชน ต้องมีวิศวกรควบคุมการรื้อถอน ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น ยอมรับว่า มันเป็นอุบัติเหตุ สาเหตุอาจเกิดจากความบกพร่องของโครงสร้างอาคาร ที่ไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นการดำเนินการรื้อถอนต้องเริ่ม ตั้งแต่ การวิเคราะห์ เพื่อวางแผนรื้อถอน วิธีการรื้อถอน อุปกรณ์เครื่องจักรที่นำมาใช้ต้องเหมาะสมและปลอดภัย มีการป้องกันฝุ่นละอองและเศษซาก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
ขณะที่ ศ.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ระบุว่า เบื้องต้นต้องตรวจสอบแผนการรื้อถอน ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ // ตรวจสอบวิศวกรผู้ควบคุมงานว่ามีความเชี่ยวชาญในการรื้อถอนอาคารที่มีอายุเก่าถึง 40 ปีหรือไม่ // โดยหลังจากนี้ จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าให้ข้อมูล คาดว่าจะใช้ระยะเวลาสอบสวนไม่เกิน 3 เดือน หากพบข้อผิดพลาด ที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคล มีโทษสูงสุด คือ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานเขตบางกะปิ เคยมีคำสั่งระงับการรื้อถอนเมื่อช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบแผนการป้องกันอุบัติเหตุไม่เป็นไปตามที่ยื่นต่อสำนักงานเขต จึงสั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง แต่เรื่องกลับเงียบ จนเกิดเหตุอาคารพังถล่มดังกล่าว
สำหรับพื้นที่ดังกล่าว เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ทำการเวนคืนพื้นที่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อใช้ก่อสร้างสถานีรามคำแหง โดยว่าจ้างผู้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 จนถึงวันเกิดเหตุ ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) และบริษัท ชิโนทัยเอ็นเจียเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อไป .-สำนักข่าวไทย