กรุงเทพฯ 15 ธ.ค.-กรีนพีซ เผยเรือประมงไทยย้ายไปมหาสมุทรอินเดีย 76 ลำ เพื่อเลี่ยงกฎหมายประมง ทั้งพบเเรงงานถูกบังคับเเละเสียชีวิตจากขาดสารอาหาร เรียกร้องรัฐไทยควบคุมปัญหาเข้มงวด
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงข่าวเปิดเผยรายงาน “พลิกวิกฤต:การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย” โดยน.ส.อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลเเละมหาสมุทรกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรือที่ทำการประมงผิดกฎหมาย โดยติดตามกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทยเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า หลังรัฐบาลอินโดนีเซียเเละปาปัวนิวกินีออกกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น เรือประมงนอกน่านน้ำของไทย 76 ลำ จึงย้ายไปทำการประมงในซายาเดอฮามัส มหาสมุทรอินเดียตะวันตก พื้นที่ที่มีความเปราะบางความระบบนิเวศน์ มีความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลมากเเห่งหนึ่ง ซึ่งห่างจาก จ.สมุทรสาคร ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย 7,000 กิโลเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายประมง โดยการทำการประมงในพื้นที่ดังกล่าว
เรือไทยจะใช้รูปแบบการทำประมงที่อาศัยเรือเเม่ เพื่อขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล ช่วยเรือประมงลอยลำห่างไกลจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ ทั้งพบว่าเเรงงานที่ทำงานบนเรือนั้นมาจากการค้ามนุษย์ เเละสัตว์น้ำที่จับได้มากกว่าร้อยละ 50 เป็นฉลามพบเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงผิดกฎหมายของ IUU ระบบตรวจสอบย้อนกลับไม่มีประสิทธิภาพ กรีนพีซจึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจประมงเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ เพื่อความยั่งยืนเเละอยู่รอดได้ในอนาคต ให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเเละบังคับใช้มาตรการเพื่อรับประกันคุณภาพของอาหารทะเลไทยเเละให้มีการยกเลิกการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลที่ครอบคลุมกองเรือนอกน่านน้ำ
ด้านนายสมพงค์ สระเเก้ว ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตเเรงงาน (LPN) กล่าวว่า ธุรกิจประมงไทย สร้างรายได้มากกว่า 1,000เหรียญสหรัฐเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มาก เจ้าของเรือประมงเเละบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเล ได้ดำเนินธุรกิจผิดจรรยาบรรณ บังคับเเรงงานให้ทำงานหนัก จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้รับความเป็นธรรม บางรายเสียชีวิตจากการขาดวิตามินบี 1 เนื่องจากโภชนาการต่ำเเละทำงานหนักเกินไป ซึ่งประเด็นที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยคือการทำให้เเรงงานได้รับค่าจ้างเเละค่าเเรงที่เป็นธรรมเเละไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน .-สำนักข่าวไทย