กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – รมว.เกษตรฯ ยืนยันไทยไม่มีนโยบายจำกัดการส่งออกยางพาราปี 62 เนื่องจากราคามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 2 สัปดาห์จากนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยาง แม้โครงการช้อปช่วยชาติจะสิ้นสุดลง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงเกษตรฯ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผู้ช่วยทูตฝ่ายการเกษตรทุกประเทศว่า ตามที่มีข่าวลือว่าไทยจะเข้าร่วมมาตรการจำกัดการส่งออกยางพารา (ATSF) ตามที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเสนอในที่ประชุมสภาไตรภาคียาง (International Tripatite Rubber Concil-ITRC) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กระทรวงเกษตรฯ และ กยท.ยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายจำกัดการส่งออกยางพาราในช่วงต้นปี 2562 หรือช่วงเวลาอื่น ๆ แต่อย่างใด
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ราคายางพาราปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศทั้งโครงการทำถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดสรรงบประมาณสะสมมาดำเนินการประมาณ 800,000 หมู่บ้าน/ตำบล จะดูดซับน้ำยางออกจากระบบตลาดได้ถึง 1.4 ล้านตัน ขณะเดียวกันยังมีโครงการช้อปช่วยชาติที่บริษัทผู้ผลิตล้อยางทำสัญญารับซื้อยางพาราจาก กยท. หรือจากสถาบันเกษตรกรที่ กยท.รวบรวมไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตทั้งล้อยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ กำลังหามาตรการเพิ่มการใช้ยางในประเทศส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ราคายางรมควันอยู่ที่กิโลกรัมละ 39.79 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงวันนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 43.19 บาท เพิ่มขึ้น 3.40 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 8.5 อีกทั้งเมื่อ อปท.ทั่วประเทศเริ่มก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา ซึ่งส่วนใหญ่แจ้งความจำนงว่าจะสร้างถนนที่มีระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ปริมาณการใช้ยางจะเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้นอีก
ทั้งนี้ มีรายงานจาก กยท.ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก มียอดการส่งออกปีละ 4.7 ล้านตัน นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้ยางธรรมชาติของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งการใช้เป็นส่วนผสมทำถนนในหลายประเทศ เนื่องจากยางธรรมชาติดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นพิษเหมือนแอสฟัลท์ ซึ่งเป็นส่วนเหลือจากการกลั่นน้ำมันดิบ อีกทั้งสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาชะลอไป ส่งผลให้ความต้องการยางพาราไปเป็นวัตถุดิบผลิตล้อยางและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นสูงขึ้น จะส่งผลให้สต๊อกยางของโลกลดลง ราคาตลาดโลกจะปรับขึ้นอีก จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการจำกัดการส่งออกแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย