กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – อปท.ได้เฮ รับแบบและสูตร พร้อมคู่มือสร้างถนนยางพาราใหม่ ท้องถิ่นดำเนินการได้ทันที
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กล่าวว่า ได้ประสานไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือจัดส่ง “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง ข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราสำหรับท้องถิ่น” ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อก่อสร้างถนนยางพาราโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เกือบ 80,000 แห่ง ตามนโยบายรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย การนำยางพารามาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ
ทั้งนี้ แบบและสูตรรวมถึงคู่มือแนะนำการก่อสร้างที่กระทรวงคมนาคมส่งมาระบุให้ใช้ลูกรังหรือวัสดุมวลรวมดินผสมกับปูนซีเมนต์ชนิดปอร์ตแลนด์ น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม และน้ำเพื่อใช้ในการก่อสร้างชั้นพื้นทางหรือผิวทางจราจร โดยการก่อสร้างเป็นชั้นเดียวหรือหลายชั้นไปบนชั้นรองพื้นทาง หรือชั้นอื่นใดที่ได้เตรียมไว้โดยการเกลี่ยแต่งและบดทับให้ถูกต้องตามแนวระดับความลาด แบบและสูตรเปิดไว้ให้สามารถใช้ได้ทั้งน้ำยางสดและน้ำยางข้น จากเดิมต้องผสมน้ำยางกับสารลดแรงตึงผิวที่โรงงานผสม ขณะนี้เพิ่มข้อกำหนดใหม่สามารถทำด้วยวิธีผสมน้ำยางพารากับสารลดแรงตึงผิวที่งานสนาม (Mix in Place) โดยใช้รถเกลี่ยผสมได้เลย เพื่อให้สามารถรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ได้โดยตรง ซึ่งสูตรนี้เหมาะสำหรับถนนที่มีปริมาณงานไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร หรือความยาวไม่เกิน 5 กิโลเมตร และควรมีปริมาณจราจรไม่เกิน 500 คันต่อวัน นอกจากนี้ ในคู่มือระบุถึงวัสดุลูกรังทำชั้นพื้นหรือผิวทางจราจรหรือวัสดุมวลดินซึ่งนำมาเสริมบนชั้นรองพื้นทางซึ่งกำหนดลักษณะไว้ให้สามารถหาในท้องถิ่นได้ โดยจะต้องตรวจสอบลักษณะของลูกรัง แล้วออกแบบส่วนผสม (Job Mix Formula) ตามที่คู่มือกำหนดไว้ให้ตรงกับคุณลักษณะของดิน
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างซึ่งแบบผสมในโรงงานผสมอยู่ที่ 1,230,000 บาทต่อกิโลเมตร สำหรับราคาจ้างเหมาสูตรผสมงานสนามกิโลเมตรละ1,140,000 บาท แต่หาก อปท.ทำเองนั้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้คำนวณร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีกองช่างประมาณการว่าอยู่ที่ 900,000 บาทต่อกิโลเมตร จะประหยัดงบประมาณ
“อปท.ทั่วประเทศแจ้งความจำนงร่วมโครงการทำถนนยางพารา แต่รอแบบและสูตร รวมทั้งราคากลาง เมื่อมีประกาศออกมาต่างยินดีพร้อมดำเนินการทันที จึงสั่งการเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จังหวัดและผู้อำนวยการ กยท.จังหวัดเร่งประสาน อปท. ทุกจังหวัดเพื่อร่วมกันทำงาน อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานกระทรวงมหาดไทยเชิญผู้บริหาร อปท. ทั่วประเทศมาประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบ สูตรผสม และคู่มือก่อสร้างให้เข้าใจตรงกัน มั่นใจว่าการเพิ่มการใช้ยางพาราในโครงการสร้างถนนนี้จะสามารถช่วยให้เกษตรกรขายน้ำยางได้มาขึ้นและราคาสูงขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย